ส.อ.ท.นำร่องโยกแรงงาน 300 ตำแหน่งข้ามบริษัทสู้โควิด

19 พ.ค. 2563 | 04:57 น.

คอลัมน์: พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์

ข้อมูลจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (Econ Thai)ประเมินว่าเศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ปิดพื้นที่เศรษฐกิจห้างร้านต่างๆ ต้องปิดตัวกระทบต่อการตกงานอย่างรุนแรงจากการประเมินมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ไม่มีงานทำจากวิกฤตไวรัส โควิด-19 ประมาณ 9.523 ล้านคนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ภาพรวมของตลาดแรงงาน ณ มีนาคม 2563 มีผู้มีงานทำประมาณ 37.33 ล้านคน (จากกำลังแรงงาน 38.21 ล้านคน) ประกอบด้วยแรงงานในภาคเอกชนมีสัดส่วนประมาณ   58% ประกอบด้วยแรงงานในระบบภาคเอกชน (ประกันสังคม ม.33) ประมาณ 11.65 ล้านคน ในจำนวนนี้มายื่นขอเงินชดเชยประกันสังคมประมาณ 1.18 ล้านคน และแรงงานเอกชนและแรงงานอิสระนอกระบบรวมกันประมาณ 10.13 ล้านคน แรงงานกลุ่มนี้รัฐบาลให้การเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา3เดือน

 ต่อเรื่องนี้นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงข้อกังวลของแรงงานที่จะตกงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังลากยาวต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งก่อนหน้านั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประเมินว่าถ้าลากยาวไปถึง 6 เดือนจะเกิดการว่างงานราว 7.13ล้านคน 

-ส.อ.ท.ช่วยสมาชิกรับมืออุ้มแรงงานตกงาน

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ล่าสุด ส.อ.ท.มีมาตรการรับมือเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานหรือช่วยแรงงานในกลุ่มที่หยุดพักงานชั่วคราว โดยมองว่ายังมีอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังต้องการแรงงาน  ส.อ.ท.จึงเปิดโปรแกรมช่วยสมาชิกที่มีมากกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ โดยโยกแรงงานข้ามบริษัท ข้ามอุตสาหกรรม ทำขึ้นระหว่างสมาชิกในส.อ.ท. โรงงานไหนมีปัญหาต้องเอาคนออกหรือแรงงานบางส่วนหยุดพักงานชั่วคราว  แรงงานก็ว่างงาน ส.อ.ท.ก็เปิดโครงการโยกย้ายแรงงานข้ามบริษัท ข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้เปิดนำร่องไปแล้ว 200-300 ตำแหน่ง

“วันนี้แม้จะมีวิกฤติโควิด-19 แต่บางอุตสาหกรรมก็ได้รับโอกาสและสินค้ายังขายดี   เช่น กลุ่มเครื่องปรับอากาศ ที่ยังต้องการแรงงานเพิ่มเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดทั้งในประเทศและต่างประเทศการส่งออกก็ยังไปได้ในบางประเทศ   รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เพราะประชาชนยังต้องรับประทานอาหารทุกวัน  โดยส.อ.ท.กำลังพิจารณาว่าจะเข้าไปช่วยแรงงานที่อยู่ในข่ายได้รับการโยกย้ายข้ามบริษัทข้ามประเภทอุตสาหกรรมที่ผลิตนั้นให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมที่ต่างกันให้ได้”

ส.อ.ท.นำร่องโยกแรงงาน 300 ตำแหน่งข้ามบริษัทสู้โควิด

โครงการโยกคนข้ามบริษัท ข้ามอุตสาหกรรมที่เปิดนำร่องไปนั้น  หากประสบผลสำเร็จก็จะขยายต่อ เป็นโครงการที่ส.อ.ท.ต้องการจะช่วยชาติลดการเยียวยาคนตกงาน และต้องการช่วยผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของส.อ.ท.ที่มีปัญหาทางธุรกิจในช่วงวิกฤติโควิด-19 ให้สมาชิกที่มีกิจการไปได้ดี และต้องการแรงงานเข้ามาช่วย ก็สามารถโยกแรงงานจากโรงงานที่มีปัญหาข้ามบริษัทเป็นการรักษาแรงงานส่วนหนึ่งไม่ให้ตกงานในช่วงนี้ได้ส่วนหนึ่ง

-มองเหตุการณ์หลังโควิด-19

นายมนตรี ยังมองเหตุการณ์หลังโควิด-19  ที่ทำให้วันนี้ทุกคนพูดถึง “New Normal”  หมายถึง “ความปกติใหม่” นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการใช้ชีวิตประจำวันและการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะออนไลน์ แต่เป้าหมายของประเทศไทยในเรื่อง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)  หรือเรื่อง อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)เหล่านี้ยังต้องมองต่อไป และหลังโควิด-19 สิ่งที่จะต้องมองคือ  อุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ ที่จะต้องกลับมามองให้เป็นสิ่งจำเป็นหรือเป็นปัจจัย4  ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เช่น อาหาร เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคว่าเราควรจะเริ่มดำเนินการกับอุตสาหกรรมกลุ่มนี้อย่างไรในเชิงรุก

นอกจากนี้เราจะต้องมาดูเรื่องการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาประเทศไทยจะต้องเข้มงวดมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า คนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนแรกแทบไม่ใช่คนไทยในประเทศไทย เราติดเพราะคนนอกประเทศนำเข้ามาติด  แต่ก็ต้องแลกกับการที่อาจทำให้    นักท่องเที่ยว

สดุดลง  

“วันนี้เราต้องพูดถึงเศรษฐกิจภายในประเทศก่อนว่าเราจะมาจัดการอย่างไร แล้วค่อยขยับไปสู่เศรษฐกิจภูมิภาค   การเปิดกว้างด้านการเดินทาง การท่องเที่ยว จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดทั้งในช่วงที่มีการระบาดจากไวรัสโควิด-19และช่วงหลังระบาด”

สำหรับจะบริหารจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไรนั้นในส่วนนี้  คนก็จะมองว่าจะทำอย่างไรเพราะโรงงานในประเทศไทยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลิตส่งออกและถ้าเดินการผลิตครึ่งเดียวผู้ประกอบการก็จะได้รับผลกระทบ  จึงทำได้เฉพาะบางอุตสาหกรรมเท่านั้น 

ส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคก็ต้องทยอยทำคู่กันไป โดยสาเหตุที่ต้องทำคู่กันไปเนื่องจากปัจจุบันวัตถุดิบบางส่วนไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า  จากที่ทั่วโลกพึ่งพาการนำเข้าจึงส่งผลกระทบชัดเจนในช่วงโควิด-19 ที่โรงงานไม่สามารถผลิตต่อได้เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบซึ่งระบบชัพพายเชนชะงักก็ไม่สามารถไปต่อได้ทำให้โรงงานทั่วโลกต้องหยุดผลิตชั่วคราว 

“จากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ จึงทำให้ทั่วโลกหันมามองการลงทุนภายในอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศไทยที่ทั่วโลกต่างยอมรับการบริหารจัดการด้านสุขอนามัยของไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19ว่าทำได้ดีในลำดับต้นๆ ”

ดังนั้นการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานประเทศไทยและสำหรับภูมิภาคอาเซียนถือเป็นความจำเป็น  นอกเหนือจากนั้นจะต้องกลับมาโฟกัสการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย