"การบินไทย" ยื่นศาลล้มละลาย ระวังดาบสองคม

17 พ.ค. 2563 | 02:25 น.

บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค.63

 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ทีผ่านมานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายถาวรเสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายอนุทินระบุว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวทางชัดเจนว่าแก้ปัญหาการบินไทยอย่างไร แต่สุดท้ายเป็นอำนาจตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องช่วยกันตัดสินใจพิจารณา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และมีปัญหามายาวนานกว่า 30 ปี

 

 ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสถานะทางการเงินของการบินไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติ จากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนกล่าวได้ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อมาเจอกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาของการการบินไทยในขณะนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ จึงต้องเร่งฟื้นฟูการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับมาผงาดอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขจะต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่

 เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้บทสรุปว่า การแก้ปัญหาการบินไทยจะพิจารณายื่นศาลล้มละลายล้มละลายสหรัฐ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเรียกอีกชื่อว่า“reorganization bankruptcy” ใช้สำหรับธุรกิจที่ยังคงต้องการดำเนินกิจการต่อไป และจำเป็นที่ต้องใช้เวลาในผ่าตัดองค์กร

 

 ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายสหรัฐ จะมีระยะเวลา 4 เดือนในการทำแผนฟื้นฟู และสามารถขยายระยะเวลาไปถึงสูงสุดถึง 18 เดือน โดยที่เจ้าหนี้การค้าจะไม่สามารถเรียกร้องการชำระหนี้ใดๆได้เลยเป็นระยะเวลาชั่วคราว โดยเจ้าหนี้จะเสนอแผนเข้าไปได้ หากเจ้าของกิจการไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายของการเสนอแผนฟื้นฟูตามเวลาที่กำหนดไว้  ซึ่งกระทรวงคมนาคมประเมินว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะมีข้อดีในหลายด้าน เช่น ทำให้บริษัทได้รับโอกาสเริ่มกิจการใหม่ ได้รับการระงับบังคับชำระหนี้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากระทรวงการคลังเคยศึกษาการแก้ปัญหาด้วยแนวทางดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นทางเลือกที่อาจก่อความเสียหายให้กับการบินไทย และกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า หากไม่สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ เช่น อาจถูกเจ้าหนี้บังคับให้ล้างความเสียหายด้วยการลดทุน พร้อมเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นเดิมใส่เงินเพิ่มทุนใหม่เข้าไป จึงเปรียบเสมือนดาบสองคม การตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ