จีนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ยุคหลังโควิด-19  ด้วยเทศกาลดับเบิ้ล 5 (1) 

16 พ.ค. 2563 | 07:45 น.

นับแต่การแพร่เชื้อโควิด-19 อุบัติขึ้นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ การให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน

  ในความพยายามที่ต้องการควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 เป็นอันดับแรก รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นมากมาย โดยเฉพาะการประกาศปิดเมือง การลดการเดินทางของประชาชน และการเคลื่อนย้ายของสินค้า จนทุกสิ่งในจีนแทบหยุดนิ่ง 

แต่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 อย่างยอดเยี่ยมชนิดโลกตะลึงทำให้ภาพความสิ้นหวังและหดหู่เมื่อไม่กี่วันก่อนกลับมลายหายสิ้นอย่างรวดเร็ว จีนในวันนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ...

 

การเปลี่ยนเกียร์...เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ

หากมองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติ จีนต้องเผชิญกับความท้าทายและปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับ SMEs จำนวนกว่า 50 ล้านราย เป็นสิ่งหนึ่งที่กดดันอย่างมาก

การไม่ได้ประกอบธุรกิจต่อเนื่องหลายเดือนทำให้กิจการเหล่านี้ไม่มีกระแสเงินสดเข้ามาสูบฉีด กอปรกับกำลังทรัพย์และกำไรที่ค่อนข้างจำกัดอยู่เป็นทุนเดิม ก็ยิ่งทำให้ SMEs เหล่านี้เผชิญกับปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน แรงงานนับล้านคนตกงาน หรือไม่ได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนอย่างที่เคยแม้ว่าจะทำงานจากที่บ้านก็ตาม ธุรกิจหลายรายอาจถึงขั้นล้มละลาย และหมิ่นเหม่ที่จะล้มพับต่อกันเป็นโดมิโน

ดังนั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนเมษายน รัฐบาลจีนจึงออกมาตรการเร่งด่วนที่มุ่งเน้นการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาด้านสาธารณสุขได้รับการแก้ไขจนลุล่วง รัฐบาลจีนก็เริ่มเปลี่ยนเกียร์ไปสู่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทันที เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายส่วนถูกเร่งความเร็วโดยลำดับ กิจการภาครัฐและเอกชนกลับมาเปิดเกือบเต็ม 100% ขณะที่แรงงานกลับมาใช้ชีวิตของคนทำงานดั่งที่เคยเป็น  จีนพลิกฟื้นเศรษฐกิจ  ยุคหลังโควิด-19   ด้วยเทศกาลดับเบิ้ล 5 (1) 

แหล่งอุตสาหกรรมหนักในหลายมณฑล อาทิ ซานตง เจียงซู อันฮุย เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และกวางตุ้งที่เคยเดินสายการผลิตเพียง 30-40% ของกำลังการผลิตโดยรวมในช่วงเดือนเมษายนก็กลับมาเดินเครื่องเต็มตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการจัดซื้อก็ขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ละเมืองเปิดประตูกว้างไม่เว้นแม้แต่เมืองอู่ฮั่นที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด ขณะเดียวกัน บริการขนส่งสาธารณะภายในและระหว่างเมืองเปิดให้บริการอย่างเต็มพิกัด 

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกก็ทยอยเปิดบริการ สถาบันการศึกษาในจีนเริ่มเปิดการเรียนการสอนในห้อง ทางด่วน สนามบิน และท่าเรือเกือบทั้งหมดก็เปิดให้บริการเป็นปกติ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานในจีนและระหว่างประเทศที่ขาดสะบั้นไปหลายเดือนกลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง

ปลายเดือนเมษายน มาตรการสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่นอกบ้าน การรักษาระยะห่างทางสังคม และเงื่อนไขอื่นๆ ทยอยถูกผ่อนคลายและยกเลิกไปในที่สุด แต่คนจีนส่วนหนึ่งก็ยังกล้าๆ กลัวๆ จึงยังคงใส่หน้ากากโดยสมัครใจ

รัฐบาลจีนยังขยายจำนวนวันหยุดในช่วงฉลองวันแรงงานจากปกติ 3 วันเป็น 5 วันในปีนี้ เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน เพื่อรับแสงแดดและสูดอากาศบริสุทธิ์ในฤดูใบไม้ผลิที่แสนอบอุ่นอย่างที่เคย ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยส่วนใหญ่กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี ยอดนักท่องเที่ยวหายไปราว 40% ขณะที่ยอดการจับจ่ายใช้สอยหดหายไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่ใช้เวลาอยู่ในบ้านและการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “สภาวะปกติใหม่” ของจีนที่ยอดเยี่ยม

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังส่งสัญญาณเชิงบวกเพื่อเพิ่มความมั่นใจของภาคประชาชนในอีกระดับหนึ่งเมื่อประกาศวันประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมือง และสภาประชาชนแห่งชาติในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 

หลายฝ่ายคาดว่า การประชุมแห่งชาติ ณ กรุงปักกิ่งที่เลื่อนจากเดือนมีนาคมในครั้งนี้จะแตกต่างจากเดิมอยู่มาก โดยในด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายใหญ่ในการเร่งขจัดปัญหาความยากจนให้หมดจากแผ่นดินจีนแล้ว ที่ประชุมอาจจะขยายไปครอบคลุมประเด็นการกระตุ้นและปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงลึกในยุคหลังโควิด-19

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนตระหนักดีกว่า พลังของภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้หดหายไปมาก และจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาดังเดิม จีนจึงหันไปให้ความสนใจกับกลไกที่กำกับควบคุมได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศ 

ในการใช้ประโยชน์จากภาคการบริโภคภายในประเทศ หนึ่งในโครงการที่สร้างความฮือฮาในจีนในช่วงนี้ก็คือ การจัดเทศกาลจับจ่ายใช้สอยครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

 

คอลัมน์มังกรกระพือปีก  โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน :  : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่นๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน