Hi-Speed Train : ของขวัญชิ้นใหม่ของคนไทย

18 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
ขณะนี้รัฐบาล คสช.กำลังเร่งการพัฒนาประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีอะไรจะดีในขณะนี้คือ การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เป็นฐานของการก้าวหน้าการเศรษฐกิจและการลงทุน

ทฤษฎีการสร้างสาธารณูปโภค ยิงนกทีเดียวได้ 2 ตัวคือ 1.เป็นการลงทุนสร้างรากฐานโดยรัฐ และ 2.เป็นการกระตุ้นการจ้างงาน การสร้างโซ่ของการผลิตไปพร้อมกัน ในอดีตยุคปี 2500 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกาให้สร้างถนน

ระบบถนนของเราในยุคนั้นจึงเป็นการลงทุนของรัฐ สร้างพื้นฐานคมนาคม และเป็นกลยุทธ์แรกเริ่มการพัฒนาประเทศ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 1 (ก็ที่ปรึกษาอเมริกาอีกนั่นแหละ แนะให้มีแผนพัฒนาประเทศโดยสภาพัฒน์ฯ ระยะสั้น กลาง ยาว ให้มีสำนักงบประมาณดูแลการเงินประเทศ ให้มีคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อดูแลกำลังคนด้านราชการของชาติ และก็เสริมกลยุทธ์ชุดแรกก็คือ สร้างถนนทั้งชนบท เช่น ถนนมิตรภาพ เป็นถนนแรกที่อเมริกันสร้างให้ก็เพื่อผลการนำยุทโธปกรณ์ไปรบสงครามเวียดนาม ในกรุงเทพฯ ก็แนะให้สร้างถนน ขยายถนน ผลดีก็มีระบบคมนาคมในกรุงเทพฯดีขึ้นมาก แต่ก็ต้องแลกกับการถมคูคลองไปจำนวนไม่น้อย

เสียดายเหลือเกินที่ที่ปรึกษาจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นคนอเมริกา มิได้เสนอให้สร้างระบบราง (Rail) ซึ่งเป็นระบบที่ทางยุโรปนิยมติดต่อกันทั้งภูมิภาค และในเมืองใหญ่ เพราะประเทศอเมริกากว้างใหญ่ไพศาล พื้นที่มากมาย และขณะนั้นธุรกิจรถยนต์คือ ยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา ช่วงนั้นผลิตรถยนต์ปีละเกือบ 1 ล้านคัน ประเทศไทยก็พัฒนาระบบคมนาคมทางถนนที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียขณะนี้

60 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2559 ที่ขณะนี้ประเทศไทยโตมาก ทั้งประชากร 68 ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ 15 ล้านคน เทียบเท่าเมืองใหญ่ของโลก น้องๆ โตเกียว (28 ล้านคน และนิวยอร์กก็ 28 ล้านคน) เศรษฐกิจก็โตมากเป็นหลายเท่าจากสมัยปี 2500 และขณะนี้เราก็มีรัฐบาลทหารอีกครั้ง และก็กำลังใช้ยุทธศาสตร์เดียวกัน คือ สร้างเศรษฐกิจ กระตุ้นด้วยระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) และก็เน้นการคมนาคม แต่คราวนี้มิได้มุ่งเป้าที่ถนน แต่หันมาดูระบบราง ซึ่งทิ้งช่วงไว้มิได้พัฒนามานานกว่า 69 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานและระบบท่าเรือ กำลังถูกผลักดันขึ้นมา และพระเอกก็คือเมืองใหญ่ เน้นการลงทุนด้วยมิใช่แต่ระบบถนน แต่เป็นระบบรางทั่วประเทศ และระบบขนส่งมวลชนเมืองใหญ่ในมหานคร ลงทุนมหาศาล จ้างงานมากมาย ใช้วัสดุอุปกรณ์ท้องถิ่น ได้ทั้งยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และสร้างระบบพื้นฐาน ใช้ 2.5 ล้านล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า

พระเอกของระบบรางก็มีหลายประเภทโครงการ โดยพระเอกของระบบรางยุคสมัยนี้คือ "Hi-Speed Train" รถไฟความเร็วสูงหัวจรวด เป็นทั้ง Innovation ของระบบรางบนพื้นดิน และเป็นดัชนีของความก้าวหน้ายุคใหม่นี้ จะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิมเหลือไม่ถึงครึ่ง เชียงใหม่-กรุงเทพฯ 8 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง จากโคราช 4 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง ทั่วโลกในประเทศก้าวหน้ากำลังลงทุนกับ Innovation นี้ เดิม ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นพระเอก ปัจจุบัน ญี่ปุ่น และพี่ใหญ่ จีน กำลังจะครองโลกด้านนี้

โครงการนำร่องของเราคือ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ โครงการนี้เนื้อหอมมาก ญี่ปุ่นมาแรง เพราะต้องการล้ำหน้าจีน ซึ่งจองการลงทุนรถไฟจากหนองคายมากรุงเทพฯ ไปอู่ตะเภา เพราะจีนสร้างมาจนถึงลาว ผ่านลาวมาจ่อที่หนองคายแล้ว เพื่อเข้าไทยลงทะเลที่ประเทศไทย ขณะนี้ก็ถูกวิพากษ์กันอยู่ว่าไม่จำเป็น แน่นอนมีทั้งผู้ชอบ และไม่ชอบ ดูถนนราชดำเนิน สร้างโดยรัชกาลที่ 5 ยังถูกค่อนแคะว่าในอดีตจะสร้างให้ช้างกี่ตัวเดิน

คำถามคือเราจำเป็นจะต้องใช้รถไฟหัวจรวดไหม รถไฟความเร็วสูงมีหลาย Speed สูงสุดขณะนี้ก็ 350-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วมากรองลงมาก็ระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไทยกำลังมองอยู่ และต้องการทางคู่ทั้งประเทศอย่างยิ่ง เล็กสุดก็ 100 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่รถไฟไทยวิ่งทางเดียว จอดสวนทางมากมาย วิ่งต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟเส้นทางเดียวขนส่งคนและสินค้าปะปนกัน

การขนส่งสมัยใหม่นี้ก็เหมือนกับทำไมเราต้องทำ "เส้นทางด่วนพิเศษ" หรือทางยกระดับ ทำไมไม่คงไว้ถนนบนดินเดิมๆ การเดินทางสมัยใหม่ต้องการลดระยะเวลาเหมือนเศรษฐกิจยุคนี้ พูดกันถึงเรื่อง Speed of Economy ความเร็วของการทำธุรกิจคือ KeySuccess รถไฟไฮสปีดเทรนโครงการนำร่องซึ่งขณะนี้เยอรมันโดยซีเมนต์ และฝรั่งเศส โดยบอมบาดิเยร์ เป็นเจ้าแห่งรถไฟหัวจรวด กำลังกลับทางทวงถามความเป็นเจ้า ญี่ปุ่นแม้กระทั่งจีน ก็กำลังเติบโตทั้ง "เทคโนโลยี ทั้งการเงินครบ"

เราคงต้องมาดูกันว่าการแข่งขันเพื่อสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอินโนเวชันใหม่นี้ใครจะได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลและคนไทยทั้งชาติ คงต้องกล้าสร้างเพื่ออนาคตเหมือนถนนราชดำเนินสมัย รัชกาลที่ 5 ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559