ความผิดปกติใหม่ ที่ SMEs ต้องเผชิญ

14 พ.ค. 2563 | 06:15 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,574 หน้า 5 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม 2563

โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติศัพท์ “New Normal” ว่า “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” แต่กว่าที่เราจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะดังกล่าวได้ เราคงต้องฝ่าฟันกับภาวะความผิดปกติใหม่ (New Ab normal) ให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะกับวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Size Enterprises: SMEs)

แน่นอนว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไม่ได้เพียงแต่ส่งผลกระทบทางลบในมิติสาธารณสุขและวิถีชีวิตเท่านั้น หากแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็เลวร้ายไม่แพ้กัน และอาจจะซึมลึกยาวนานกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะกับ SMEs ที่นาทีนี้ หลายๆ กิจการโดยเฉพาะภาคบริการที่ยังคงต้องปิดกิจการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอยู่

พร้อมกับตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อไรก็ตามที่สามารถทยอยเปิดเมืองตามประกาศของรัฐบาลได้ จากกิจการสีขาวและเขียว ไปสู่กิจการที่อยู่ในกลุ่มสีเหลือง และในที่สุดกิจการในกลุ่มสีแดง เมื่อนั้นกิจการของฉันก็จะกลับมาขายได้อีกครั้ง และน่าจะทำรายได้ในช่วงแรกได้สูงด้วย เพราะลูกค้าอยู่ในสภาพ “อั้น” มานาน ของที่อยากกินก็ยังไม่ได้กิน ของที่อยากซื้อก็ยังไม่ได้ซื้อ บริการที่อยากใช้ อาทิ นวด สปา ฟิตเนส แล้วยังไม่ได้ใช้บริการก็จะรีบไปใช้บริการทันทีเมื่อเปิดเมือง

แต่เดี๋ยวก่อน สำหรับ SMEs ที่มีทุนรอนจำกัด มีพื้นที่ให้บริการจำกัด ที่สำคัญยังมีสภาพคล่องจำกัด ความหวังที่จะคอยรับทรัพย์เมื่อเปิดเมืองอาจจะกลายเป็นเพียงความฝัน ทั้งนี้เพราะ

1. ผู้ประกอบการได้ตรวจสอบหรือยังว่า วัตถุดิบที่ท่านต้องใช้ในการดำเนินกิจการ ท่านยังสามารถเข้าถึงได้อย่างปกติหรือไม่ ร้านขายสินค้าหลายๆ ประเภท ท่านยังสามารถสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้าขายได้อย่างปกติหรือไม่ โรงงานในต่างประเทศเปิดกิจการแล้วหรือยัง กำลังการผลิตกลับมาเท่าเดิมแล้วหรือไม่ ระบบโลจิสติกส์เป็นปกติแล้วหรือไม่ ร้านอาหารยังสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบจำพวกอาหารสดและเครื่องปรุงจากต่างประเทศได้เช่นเดิมหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ปกติจะสามารถสั่งซื้อปลาจากประเทศญี่ปุ่นได้โดยปลาและอาหารทะเลสดๆ จะออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นโดยสายการบินในเวลาเช้ามืด เพื่อมาถึงประเทศไทยในช่วงบ่าย และร้านของท่านสามารถไปรับสินค้าเพื่อขายซูชิ ซาชิมิสดๆ ได้ภายในเย็นวันนั้น หรืออย่างช้าในวันรุ่งขึ้น แต่ด้วยจำนวนเที่ยวบินที่มีจำกัด ขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อกักกันโรค กระบวนการศุลกากรที่เข้มงวด ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นอย่างมาก คำถามคือ วัตถุดิบเหล่านั้นยังสดและคุณภาพสูงเพียงพอ รวมทั้งยังอยู่ในต้นทุนที่ท่านจะประกอบอาหารให้ลูกค้าได้ด้วยคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมเช่นเดิมหรือไม่

 

ความผิดปกติใหม่ ที่ SMEs ต้องเผชิญ

 

2. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ร้านนวด ร้านสปา คงต้องปรับปรุงพื้นที่และอุปกรณ์ เช่น เตียงนวด เก้าอี้นวด ที่คงต้องมีการทำความสะอาดทันทีหลังจากลูกค้าหนึ่งท่านใช้บริการเสร็จ ก่อนที่ลูกค้าท่านใหม่จะเข้ามาใช้บริการ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน คงจะต้องซักทุกครั้ง เพราะไม่อย่างนั้น ลูกค้าก็คงไม่มีความมั่นใจในการไปใช้บริการในร้านของท่าน

ร้านอาหารที่เคยขายอาหารสด เช่น ซูชิ ซาชิมิ ที่เป็นอาหารสดปรุงดิบไม่ผ่านความร้อน ท่านจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อย่างไร และตัวลูกค้าเองจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และไม่อยากรับประทานอาหารประเภทนี้หรือไม่

 

 

3. ข้อกำหนดในเรื่องสุขอนามัยที่เปลี่ยนไป เช่น ถ้าเดิมท่านมีพื้นที่การขายขนาด 100 ตารางเมตร รับลูกค้าได้รอบละ 50 ท่าน แต่เมื่อต้องตั้งโต๊ะอาหารให้ห่างกัน และให้ลูกค้านั่งได้เพียงโต๊ะละ 1 ท่าน และต้องเว้นระยะการให้บริการหลังจากลูกค้าออกจากร้านไประยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะรับลูกค้ารายใหม่ ลูกค้าจะมายืนรอที่หน้าร้านเหมือนเดิมก็ไม่ได้

ร้านนวด ร้านสปา ที่ต้องเว้นระยะ ระยะเวลาเปิดทำการของศูนย์การค้าที่หดสั้นลง เช่นจากเดิม 10.00-22.00 น. (12 ชั่วโมง) เหลือเพียง 11.00-20.00 น. (9 ชั่วโมง) สำหรับธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก จำนวนลูกค้าที่จะอนุญาตให้เดินเข้าไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้า ก็จะถูกจำกัดให้เข้าไปเดินเลือกซื้อสินค้าได้เป็นรอบๆ รอบละไม่กี่คน เหล่านี้ล้วนทำให้จำนวนรอบของการให้บริการลดลง และนั่นหมายถึงรายรับของท่านที่ลดลงอย่างแน่นอน

4. ข้อกำหนดในเรื่องสุขอนามัยยังเพิ่มต้นทุนให้ท่านอีกด้วย อาทิ ท่านต้องติดตั้งหลอด UV ในพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อฆ่าเชื้อโรค ต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องกำเนิดโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ต้องมีการเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศไหลเวียน หรือการปรับเครื่องปรับอากาศให้มีการดูดอากาศจากภายนอกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศซึ่งแน่นอนหมายถึงค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์ที่สูงขึ้น

การติดตั้งแผ่นพลาสติกใสสระหว่างโต๊ะอาหาร แผ่นพลาสติกใสระหว่างพนักงานกับลูกค้า หรือที่นิยมเรียกกันว่า Table-shield การต้องลงทุนอุปกรณ์ป้องกันให้กับพนักงานที่เพิ่มขึ้น อาทิ หน้ากากอนามัย Face-Shield ถุงมือ การต้องลงทุนเพิ่มเรื่องแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และนํ้ายาทำความสะอาดในพื้นที่ของกิจการของท่าน เหล่านี้คือต้นทุนที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่เพิ่มขึ้นทันที ยังไม่รวมกับต้นทุนวัตถุดิบอีกทั้งชุดเต็มรายการที่ท่านจะต้องสต๊อกใหม่ทั้งหมด หลังจากที่ท่านปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในรอบนั้นท่านก็ต้องทิ้งสต๊อกวัตถุดิบไปแล้วหนึ่งรอบ

5. และในกรณีที่ไม่คาดฝัน หากการแพร่ระบาดมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง (2nd Wave) นั่นหมายถึงการปิดกิจการชั่วคราวอีกรอบ ซึ่งเท่ากับ ต้นทุนที่กล่าวถึงในข้อที่ 4 จะกลายเป็นต้นทุนจม (Sunk-Cost) ไปทันที

 

6. ผลกระทบที่ส่งผ่านจาก SMEs ซึ่งคือผู้ประกอบการจำนวนมากของประเทศที่จ้างงานส่วนใหญ่ ยังจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ อีกด้วย อาทิ เมื่อพื้นที่การขายและจำนวนรอบการขายในแต่ละวันลดลง ทำให้รายรับลดลง ในขณะที่มีต้นทุนสูงขึ้น เชื่อว่าผู้ประกอบการจำนวนมากจะเลือกการลดจำนวนพนักงานเป็นหนึ่งในวิธีการลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้น

นั่นคือการส่งผ่านจากวิกฤติเศรษฐกิจสู่วิกฤติทางสังคม และเมื่อพื้นที่การขายลดลง เช่นจากเดิม 100 ตารางเมตรที่ต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราที่สูงต่อตารางเมตร แต่เมื่อใช้ประโยชน์ได้ไม่ครบทั้ง 100 ตารางเมตร อาจจะเทียบเท่ากับการใช้พื้นที่จริงแค่ 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งร้านเท่านั้น การเจรจาต่อรองกับผู้บริการศูนย์การค้าเพื่อขอปรับลดค่าเช่าขนานใหญ่จะเกิดขึ้น หรือเลวร้ายที่สุดคือ การขอพักไม่จ่ายค่าเช่า และเมื่อเป็นเช่นนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับ SMEs ก็จะถูกส่งผ่านไปให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้สร้างรายได้หลักให้กับมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเสมือน Check-List เบื้องต้น ที่แน่นอนตัวผู้ประกอบการ SMEs ต้องตรวจสอบ วางแผนรับมืออย่างรอบคอบ สร้างยุทธศาสตร์การรับมือกับความผิดปกติในรูปแบบใหม่ของตนเอง (Exit Strategy) และในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนการส่งสัญญาณให้กับผู้รับผิดชอบในการวางนโยบายเพื่อฟื้นฟูเยียวยาการเปิดเมืองกลับสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ต้องเตรียมนโยบายเมื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น