The Raven Crown : มงกุฎมหากา(ฬ)

09 พ.ค. 2563 | 02:10 น.

ครั้งสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี สิงหเว วังชุก เสด็จสละราชสมบัติหลายปีก่อนนั้น ในการพระราชพิธีเวนราชสมบัติแห่งบัลลังก์ภูฏานแต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ก็ได้ทรงมีพระกรุณาครอบพระมหามงกุฎมหากา อันเปนเครื่องราชกกุฏภัณฑ์สำคัญแห่งพระราชอาณาจักรภูฏานพระราชทานแต่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่

 

The Raven Crown : มงกุฎมหากา(ฬ)

บัดนี้ก็ได้เวลาอรรถาธิบายถึงพระมหามงกุฎสำคัญของแผ่นดินมังกรสายฟ้า

 

ภูฏานเปนดินแดนลึกลับในเวิ้งเขาหิมาลัยซึ่งมีชนหลายกลุ่มหลายพวกอาศัยอยู่มาเนิ่นนาน เปนภูฏานที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ผ่านร้อนหนาวการรุกรานจะยึดเอาเปนประเทศราช_อาณานิคมของหมู่ชาติมหาอำนาจมาหลายคำรบ แต่ทว่าเปนประเทศเดียวที่รอดพ้นภัยอาณานิคมมาได้ และรอดมาได้ด้วยกฤษดาภินิหารแห่งมงกุฎมหากา(ฬ) องค์นี้

 

ปฐมวงศ์กษัตริย์ภูฏานนั้นทรงมีพื้นฐานเปนนักรบมาแต่ต้น เดิมพระนามจิกมี นัมเกล เปนเจ้าเมืองตงซา_ในวันเวลาที่ประเทศปกครองด้วยพระสงฆ์_ชับดรุง ในลักษณาการของเทวะประสมกับธรรมะราช เจ้าเมืองตงซาผู้นี้มีอาจารย์ดีคือ ท่านลามะ จังชุบ ชนดรู ก็แบบเดียวกันกับไทยเรา มีพระอาจารย์ธรรมโชติ มอญมีพระมหาเถรคันฉ่อง สอนสั่งและให้วิชชาศิษยานุศิษย์นักรบนั่นแล

 

ลามะผู้นี้เปนผู้ทรงวิทยาคุณพิเศษ มีเมตตาแก่ศิษย์มาก ท่านได้ประกอบพิธีสำคัญทำหมวกออกศึกให้ศิษย์ได้ใช้ โดยดึงเอาเทวะอำนาจของเทพยดาผู้พิทักษ์พระศาสนาของภูฏานที่ชื่อว่า เทพมหากาฬ มาสู่เทพยดาองค์นี้มีพระวรกายหนาตัน ผิวพรรณดำ(กาฬ) ท่านเปนผู้ชี้ทางให้ชับดรุง องค์แรกนำพลเผ่าย้ายมาตั้งรกรากยังดินแดนภูฏานปัจจุบัน

 

พระเจ้าจิกมี สิงหเว กับ พระอาจารย์ดิละโก

 

The Raven Crown : มงกุฎมหากา(ฬ)

เรื่องมันเชื่อมกันตรงที่ว่า องค์เทพมหากาฬนี้มักปรากฏร่างในรูปของนกกาดำ และหลายครั้งปรากฏตัวในรูปภูตอุดร ท่านอาจารย์จังชุบจับยามสามตาดูแล้ว ลูกศิษย์ของท่าน ก็เปนผู้มีกายาหนาตัน ผิวพรรณดำ(กาฬ) นิยมสวมชุดดำ ขี่ม้าศึกสีดำ จนได้สมญาว่าอัศวินดำ ท่านจึงใช้อำนาจจิตศาสตร์มนตราผนึกเทวะอำนาจของ เทพมหากาฬทั้งสองปาง(เศียรอีกา/ภูตอุดร) จำลองเข้าด้วยกันกับตัวจิกมี นัมเกล ศิษย์รัก โดยมีนัยสำคัญให้ฝ่ายหลังมีสิทธิและหน้าที่ ในการพิทักษ์อาณาจักรภูฏานซึ่งเปนที่สถิตย์สถาพรของพระพุทธศาสนามหายานสืบไปพร้อมกัน

 

โดยซ้อนสมมตินั้นลงในหมวกใบหนึ่ง มียอดเปนหัวกา มีลายมาลาเปนกะโหลกภูต เมื่อสวมเข้าแล้วก็บังเกิดเปนศิราภรณ์_เครื่องประดับศีรษะชิ้นพิเศษของเจ้าเมืองตงซา ใช้สวมหัวออกหน้ายามยาตราออกศึก

 

พระมาลามหากา ยุคแรก

 

ในการสงครามกับอังกฤษ ปี 1864 จ้าวอัศวินดำก็สามารถกำชัยชำนะได้อีกครั้ง คราวนี้แม้ท่านครูได้มรณภาพไปแล้วแต่ยังได้ต่อวิชาไว้ให้ จิกมี นัมเกล ตั้งปะรำพิธีเชิญพระราหูเทวะเจ้ามาช่วย เสริมกำลังเทพมหากาฬ ด้วยในทางภูฏานนี้ ศรของพระราหูมีไว้แผลงทำลายผู้ผิดคำสัตย์ต่อพระศาสนา เหมาะแท้แก่การพิฆาตอังกฤษผู้บุรุก

 

มาบรรทัดนี้ก็จะกล่าวถึงว่าคราว พล.ร.ต. เซอร์เพดเดอกราจ บุกยึดมัณฑะเลย์ราชธานีพม่า จอดเรือรบทอดสมออยู่ในน้ำอิระวดี แลไปบนฝั่งเห็นแม่ทัพนายกองพม่าตั้งกองหน้าประดับธงทิวสวยงามตามธรรมเนียมการศึก แลระยับไปด้วยพู่แดงปลายทวน เครื่องอัศวอาภรณ์ ช้างม้าคชาธาร อลังการดุจภาพเขียน มีตัวทหารอาทมาตประดับผ้าโพกอัญมณีออกรำกระบี่ตีกลองฆ้องโหม่งท้ารบอยู่ทั่วไป ก็ด้วยความงุนงงสงสัย ว่าขบวนพาเหรดมากันทำไม 

 

เพื่อให้คลายฉงน พี่แกก็สั่งเว้นปืนกล_กดปืนใหญ่ยิงใส่ความงามงดนั้นไปสองสามนัด พลันก็ได้เห็นทัพพม่าแตกกระจาย_เลือดอาบเลยยึดได้ราชธานีเมืองพม่าเสียง่ายดายแต่เพียงนั้น

 

ต่างจากคราวนี้ที่ภูฏาน จ้าวอัศวินดำที่บัดนี้บารมีถึงที่พระกาฬเทวราช รับกำลังมนตราลึกลับจากเทพยุดาตันตระนิกายแล้ว ก็ลงมือพร่าผลาญสังหารชีพทหารฝรั่งตายตกกันราวใบไม้ร่วง เริ่มจากพลแตรอังกฤษเป่าเพลงสัญญาณศึกยังไม่ทันไร ทัพของเจ้ากาฬเทวราชก็เสด็จปาดคอหอยหลอดลมขาดแตรเป่ามิทันสิ้นเสียง ข้างเสนาธิการฝรั่งนั่งประชุมศึกกันอยู่ในกระโจมก็เสด็จผ่านโผนม้าดำออกยิงทิ้งเสียสี่นายด้วยกระสุนนัดเดียว

 

ต่อมาแม่ทัพชาวอินเดียแขนเดียวที่อังกฤษเกณฑ์มารบในสมรภูมิ ก็ถูกกำราบศึกโดยการบั่นหัวทิ้งพร้อมทั้งสับแขนที่เหลืออีกข้าง กลับไปบวงสรวงกำนลแต่เทพยดาผู้รักษาการศึก ที่เมืองตงซา (ทุกวันนี้แขนนั้นยังอยู่) ทหารอังกฤษ ทั้งซิกซ์ ทั้งแขก ถอยหนีไม่เปนท่า ซุ่มรอเวลากลับมาเอาคืนใหม่ ...แต่สุดท้ายก็จบที่ทำสัญญาสงบศึกกันทั้งสองฝ่าย

 

แม้เจ้ากาฬเทวราชตลอดอายุขัยจะมิได้ปราบดาภิเษกขึ้นเปนกษัตริย์ และได้สิ้นบุญไปในเวลาต่อมา มงกุฎมหากานี้ก็ได้ตกแก่บุตรชายของท่าน ผู้สืบตระกูลเปนเจ้าเมืองตงซา

 

อูเกน วังชุกผู้บุตรนี้ต่อมาก็เปล่งบารมีเท่าบิดา ยามไปประชุมสนธิสัญญาที่ใดๆ จะสวมศิราภรณ์ มหากานี้เข้าที่ประชุมเสมอไป แท้ยามเดินทางก็จะอุตสาหะเอาผ้าพันป้องกันฝุ่นมงกุฎที่สวมใส่อยู่ทุกครา ข้าหลวงใหญ่ที่กัลกัตตายังขอเชิญไปร่วมเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารอังกฤษที่อินเดีย

 

อูเกน วังชุกผู้นี้ ต่อมาได้รับมติคณะปกครองอัญเชิญขึ้นเปนปฐมกษัตริย์ต้นวงศ์วังชุกแห่งภูฏาน 

อูเกน วังชุก พันผ้ากันฝุ่นจับพระมาลามหากา

 

ฝ่ายจีนซึ่งมองดูด้วยความหงุดหงิดก็โกรธว่า เอ้ แท้แล้วภูฏานเปนเมืองขึ้นของจีนนี่นานะ พลางออกแถลงการณ์ทบทวนความจำแก่ พระเจ้าอูเกน วังชุก ถึงหมวกขุนนางชั้นสองประดับขนนกยูงและปะการังที่จีนเคยมอบไว้เมื่อคราวภูฏานส่งเครื่องจิ้มก้องบรรณาการต่อเนื่องมาครบร้อยปี แต่พระเจ้าอูเกนท่านก็มิได้นำพา ด้วยเมื่อไปค้นดูในห้องพระคลังมหาสมบัติแล้วหมวกนั้นก็หมดสภาพเปื่อยผุไปมาก_ผุพัง

 

ผุพังพอกันกับราชอำนาจของวงศ์อ้ายซินเจี๋ยหลอล่มสลายไปกับระบอบคอมมิวนิสต์ที่คืบคลานมาใหม่ จึงไม่มีเหตุให้ต้องทรงแยแสสนพระทัยคำขู่ของผู้ใกล้พังพาบแต่อย่างใด _บร้ะแล้ว

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

The Raven Crown : มงกุฎมหากา(ฬ)