ระวัง‘สังคมพึ่งรัฐ’ ความปกติใหม่ประเทศไทย

09 พ.ค. 2563 | 11:35 น.

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

“New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการระบาดของเจ้าไวรัสตัวจิ๋ว โควิด-19 เป็นคำที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่ได้พูดถึงหรือพูดถึงกันน้อย นั่นคือ ความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยที่จะกลายเป็น “สังคมพึ่งรัฐ” ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกวิเคราะห์ตรงกันว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหนักหน่วง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวตํ่ากว่าปี 2562 อย่างแน่นอน แต่จะลดลงเท่าไหร่ยากที่จะคาดเดา ขณะที่สถานการณ์ข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง

 

หันกลับมาที่ประเทศไทยของเรา เมื่อไม่นานมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติได้สำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจไทย ระหว่างวันที่ 10 - 24 เมษายน 2563 พบว่าไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง ผ่านช่องทางการขนส่งเป็นสำคัญ อีกทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน โดยธุรกิจส่วนใหญ่ใช้นโยบายให้สลับกันมาทำงานและลดชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในภาคที่มิใช่การผลิต

 

ระวัง‘สังคมพึ่งรัฐ’  ความปกติใหม่ประเทศไทย

 

ธุรกิจส่วนใหญ่มองว่ามาตรการช่วยเหลือที่เร่งด่วนที่สุด คือ การพักชำระหนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจให้ดำเนินไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในปีหน้า

 

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองไม่เกิน 6 เดือน และมีวัตถุดิบคงคลังสำหรับการผลิตได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น

สอดคล้องกับการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายน 2563 ที่ปรับลดลงอย่างมากสู่ระดับ 32.6 ตํ่าที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2542 โดยเป็นการลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต และทุกองค์ประกอบอยู่ตํ่ากว่าระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลงในทุกด้าน

 

เมื่อมองไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 37.8 ใกล้เคียงกับระดับตํ่าที่สุดช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ที่ระดับ 37.1 จากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรง

 

เมื่อเจาะลึกในภาคการผลิต พบว่าผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ผู้ผลิตเหล็กและผู้ผลิตยานยนต์มีความเชื่อมั่นลดลงมาก จากคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะลดลงและอยู่ในระดับตํ่า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานลดลงมาก สะท้อนว่าอาจมีการลดการจ้างงานในอนาคต

 

สำหรับภาคที่มิใช่การผลิต กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มโลจิสติกส์คาดว่าคำสั่งซื้อและผลประกอบการจะลดลงมากตามความต้องการบริโภคสินค้าที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับมีการกักตุนสินค้าในช่วงก่อนการประกาศใช้มาตรการปิดเมืองไว้ค่อนข้างมาก

 

ด้านกลุ่มก่อสร้างมีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและปริมาณการก่อสร้างลดลงมาก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานลดลงเช่นกัน

 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ทำให้ธุรกิจที่สภาพคล่องลดลงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SMEs เริ่มประสบปัญหาวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากสถาบันการเงินไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

 

ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพกันบ้างแล้วใช่ไหมครับว่า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน หนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคตกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากอย่างหนัก และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานในอนาคต

 

นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักประเมินกันผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ ติดลบอย่างหนักในระดับตัวเลข 2 หลัก และจะใช้เวลาอย่างน้อย 9 เดือน เศรษฐกิจจึงจะกลับมาเติบโตเป็นบวกอีกครั้งในไตรมาส 2 ของปี 2563 แต่เป็นการเติบโตที่เป็นบวกจากฐานจีดีพีที่ติดลบ

 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การอัดฉีดเงินของภาครัฐเข้าไปดูแลภาคเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ในแบบที่เรียกได้ว่า จึงมีความจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่พึ่งรัฐในระยะยาว จนกลายเป็นความปกติใหม่ของประเทศไทย

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,573 วันที่ 10-13 พฤษภาคม 2563