เปิด TimeLine เศรษฐกิจไทย: ลึกแค่ไหน ฟื้นเมื่อไร

02 พ.ค. 2563 | 12:30 น.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ “มูลนิธิ สวค.”  [email protected]

บทเรียนวิกฤตทางเศรษฐกิจแต่ละครั้งของประเทศสร้างความบอบช้ำอย่างหนักหนาสาหัสทุกครั้ง ผลพวงจากการที่ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเปลี่ยน ไม่เรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน สุดท้ายต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนบนความไม่พร้อม ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เคยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศเลยสักครั้ง

การที่ก้าวไปข้างหน้า 10 ก้าว แล้วถอยหลัง 4-5 ก้าว ก้าวไปข้างหน้าด้วยก้าวที่สั้นลง “การถอย” และ “การหยุดอยู่กับที่” “ลึกและนานขึ้น” คือภาพการเคลื่อนที่ของเศรษฐกิจประเทศไทย

ความฝันเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เรื่อง New S-Curve จึงกลายเป็น “ฝันเลื่อนลอย” ทันทีที่เกิดการระบาดใหญ่โรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (Covid-19) ทำให้เราต้องมาทบทวนตารางการเดินทาง (TimeLine) ของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง บนเงื่อนไขที่ยากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะสูงวัยจะป่วยอีกไม่ได้เป็นอันขาด เนื่องจากรัฐได้ระดมทรัพยากรและทุนรอนจากอนาคตมาใช้จ่ายเยียวยา จนไม่เหลือไว้สร้างภูมิคุ้มกันอีกแล้ว

ถ้าวิกฤตและความเสี่ยงในอนาคตเป็นสิ่งที่หลีกเลียงไม่ได้ โจทย์สำคัญคือคนไทยและธุรกิจต้องเตรียมตัวไว้เท่าใดและอย่างไรจึงจะเพียงพอและมีความพร้อมสำหรับอนาคต

การตระหนักถึงการวางแผนรายได้ วางแผนการออม และกระแสเงินสด รวมทั้งการประกอบธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน การทำงานที่มีคุณค่าและความมั่นคง จึงเป็นเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ การเตรียมความพร้อม และเร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ก่อนวิกฤตครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอีก

ปี 2561-2562 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.3 โดยส่วนใหญ่ยังอาศัยการเติบโตที่มาจากฝั่งอุปสงค์ซึ่งบ่งชี้ถึงความอ่อนแอและไม่แน่นอน

ปี 2563 เรากำลังเผชิญวิกฤตที่น่ากลัวที่สุด GDP จะติดลบร้อยละ 9.2 ต่อปี

เปิด TimeLine เศรษฐกิจไทย: ลึกแค่ไหน ฟื้นเมื่อไร

ปี 2564 คาดว่าเราจะก้าวผ่านจุดต่ำสุดเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวจากฐานต่ำที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี

ในปี 2565-2566 เราต้องเตรียมตัวเข้าภาวะปกติใหม่ (New Normal) ทั้งแนวทางการดำเนินงานภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ภาคครัวเรือน และภาครัฐ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เฉลี่ย ร้อยละ 3.5 ต่อปี

ปี 2567-2570 จะเป็นปีที่ตัดสินว่า ประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหนของโลก ซึ่งหากเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี หรือน้อยกว่า เศรษฐกิจยังคงพึ่งพาอุปสงค์จากการส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ นั่นคือเรากำลังจะล้มเหลวในอีกไม่ช้า ซึ่งไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ แต่จะรวมถึงสังคมและรัฐที่จะล้มเหลวตามมาด้วย

แต่หากเราสามารถสร้างเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีขึ้นไป (New S-Curve) เราสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฝั่งอุปทาน ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งทางคน การศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรม เราจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้จริงและยั่งยืน

รูปภาพคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563-2570

เปิด TimeLine เศรษฐกิจไทย: ลึกแค่ไหน ฟื้นเมื่อไร

ปี 2562: สัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเติบโตต่ำ GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 ต่อปีในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ไตรมาสที่ผ่านมา (2558-2562) ธุรกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งสงครามการค้า และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ต่อธุรกิจเก่าที่ปรับตัวไม่ได้ทัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาคท่องเที่ยวและบริการส่งสัญญาณชะลอตัว

ภาคเกษตรกรรมรายได้เกษตรกรลดลงจากราคาและผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ภาคอุตสาหกรรมเติบโตช้าลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออก ขณะที่ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อต่ำ การว่างงานต่ำ เสถียรภาพด้านการเงินการคลัง ดุลการค้าและเงินระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

อย่างไรก็ตามปี 2562 เริ่มมีสัญญาณด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลจำนวนคนจนที่เพิ่มมากขึ้น

ปี 2563: ปีที่ฝีแตกจุดเริ่มต้นของความยากลำบากทางการใช้ชีวิตและการประกอบธุรกิจ ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและรุนแรง หลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องการเคลื่อนที่หรือรวมตัวกันของคนหมู่มากถูกปิดกั้น

โดยคาดว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นปิดเมือง (Lock Down) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบ 100% จะทำให้ GDP หดตัวร้อยละ 16.9 ต่อปี และจะทำให้ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งจะทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง และปัญหาการมีงานทำและการจับจ่ายใช้สอยทวีความรุนแรงขึ้น

ปี 2564: คาดการณ์การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2564 ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในปีก่อนหน้า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำจากสูงสุดที่ระดับ 40 ล้านคนในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคนเท่านั้น และปีนี้จะสร้างประวัติการณ์การขาดดุลการคลังของรัฐบาลถึง 1 ล้านล้านบาท ประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาลจะยังสาระวนอยู่กับการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานและการปรับโครงสร้างธุรกิจต่อไป

ปี 2565-2566: ความยากลำบากในปี 2563-2564 น่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกรัฐในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การสร้างเครือข่ายเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (Early Warning System) จะรัดกุมขึ้น บทบาทของเทคโนโลยีในการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะถูกนำใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐที่เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการเยียวยาในช่วงที่ลำบากที่สุดของปี 2563

บทบาทของเงินตราดิจิทัลจะเริ่มส่งผลต่อภาคสถาบันการเงินและการค้าระหว่างประเทศ (Financial Transformation) สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) จะเริ่มมีผลต่อชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลานี้จะมีโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่หลายโครงการจะเริ่มเปิดดำเนินการ ทั้งรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีชมพู สีส้ม รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มอเตอร์เวย์ เพื่อรองรับ Demand ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตามปี 2565-2566 ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวสูงและยั่งยืน หากยังไม่มีการปรับโครงสร้างด้านผลิตภาพการผลิตทั้ง คน แรงงาน การศึกษา เทคโนโลยี ให้มีความเข้มแข็งและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ สังคมผู้สูงอายุ รัฐสวัสดิการจะเริ่มเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ

ปี 2567-2570: ครึ่งทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ร่องรอยความบอบช้ำจากวิกฤตและความพยายามแก้ปัญหาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความรู้

สร้างค่านิยมการทำงานของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจให้กลายเป็นระบบอัจฉริยะ (Smart) ตั้งแต่ภาคครัวเรือน สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ เมือง และภาครัฐบาล การวัดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังให้บรรลุเป้าหมาย 1) การลดความเหลื่อมล้ำ 2) การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม 3) การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในช่วงเวลานี้ หากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยยังขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 แต่ผลสัมฤทธิ์สามารถบรรลุได้ เราอาจจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยที่ไม่ต้องเติบโตก็เป็นไปได้ แต่หากเศรษฐกิจเฉลี่ยขยายตัวตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 และผลสัมฤทธิ์ไม่สามารถบรรลุได้ เราจะเป็นประเทศที่ล้มเหลว ประชาชนจะยากลำบาก เศรษฐกิจจะล่มสลาย

แต่ถ้าเศรษฐกิจประเทศขยายตัวเฉลี่ยได้กว่าร้อยละ 5 ต่อปี และผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังบรรลุเป้าหมาย ประเทศไทยจะทะยานขึ้นมาเป็นต้นแบบกลุ่มประเทศเกิดใหม่ชั้นนำของโลก คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจประเทศเฉลี่ยได้กว่าร้อยละ 5 ต่อปี แต่ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไม่บรรลุเป้าหมายอย่างสิ้นเชิง เราจะเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจอยู่ร่ำไป

ตลอด TimeLine ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจความผันผวนทางเศรษฐกิจภายนอกย่อมคาดการณ์ยาก ดังนั้นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความแข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญตลอดเวลา รัฐควรน้ำหนักกับการจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญพอๆกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การสร้างกลไกการรับรู้และการเตรียมความพร้อมให้เกิดขึ้นเป็น “ทักษะ

รัฐจึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้เข็มทิศ ที่ไม่จำเป็นต้องวาดเส้นทางให้ประชาชนเดิน ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานมากขึ้น ลดบทบาทและกลไกรัฐลง แล้วความผันผวนทางเศรษฐกิจจะลดลง เมื่อการตอบสนองจากภายในและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น