‘Telegram’ แอพ ที่รัสเซียบล็อก...แต่ไม่แบน

26 เม.ย. 2563 | 03:16 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

เรื่องย้อนแย้งชวนงงของรัฐบาลรัสเซียในสถานการณ์โควิด-19 ปีนี้ คือการที่หน่วยงานทางการของแดนหมีขาวใช้แอพพลิเคชันที่รัฐบาลบล็อกไม่ให้ใช้งาน เป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนซะเอง จนหลายคนเกิดคำถามในใจว่าสรุปรัสเซียจะบล็อกหรือไม่บล็อกกันแน่ จะเอาอย่างไรให้บอกมา

หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2561 รัสเซียมีการประท้วงครั้งใหญ่ที่ออกข่าวไปทั่วโลกกับภาพข่าวการเรียกร้องเสรีภาพบนโลกออนไลน์ของชาวหมีขาวด้วยการชุมนุมครั้งใหญ่ในเมืองหลวงกรุงมอสโก และร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปาเครื่องบินกระดาษ สัญลักษณ์ของแอพพลิเคชันสื่อสารยอดนิยม Telegram

รัฐบาลรัสเซียเริ่มเดินหน้าหาทางออกมาตรการควบคุมการสื่อสารบนโลกออนไลน์มาเป็นเวลาหลายปี และหนึ่งในนโยบายที่สร้างความไม่พอใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวรัสเซียจำนวนมาก คือมาตรการการบล็อกแอพพลิเคชันสื่อสารและโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ไม่ยอมส่งฐานข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานให้กับหน่วยงานความมั่นคง FSB ของประเทศ จนทำให้แอพพลิเคชันสื่อสารสัญชาติอื่นต้องยอมถอยทัพออกจากตลาดในประเทศไปแล้วหลายเจ้า

Telegram คือแอพพลิเคชันแชทสื่อสารสัญชาติรัสเซียแท้ๆ ที่คิดขึ้นโดยนายปาเวล ดูรอฟ ผู้เคยก่อตั้ง VKontakte หรือรู้จักกันในชื่อ VK ที่มีลักษณะการใช้งานคล้ายกับ Facebook ตีตลาดจนขึ้นแท่นเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศมาแล้ว โดย Telegram มีจุดขายจุดเด่นอยู่ที่การเป็นช่องทางสื่อสารที่ “ปลอดภัย” มีนโยบายปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ จึงได้รับความนิยมมากในหมู่ชาวรัสเซียซึ่งมีความหวาดระแวงเรื่องมาตรการสอดส่องการใช้งานออนไลน์ของรัฐบาลอยู่เป็นทุนเดิม กลายมาเป็นสัญลักษณ์การชุมนุม และด้วยจุดยืนนี้เองทำให้สุดท้ายแล้วการชุมนุมจบที่การบล็อกการใช้งานแอพพลิเคชันจากฝั่งรัฐบาล
 

‘Telegram’ แอพ ที่รัสเซียบล็อก...แต่ไม่แบน


ผ่านมาแล้ว 2 ปี ถึงแม้ว่าแอพพลิเคชันดังกล่าวจะถูกบล็อกการใช้งานในรัสเซียไปเรียบร้อยด้วยคำสั่งศาลแต่ก็ไม่ได้ปิดทำการไป และยังได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ทั้งในหมู่ชาวรัสเซีย (ผ่านการใช้โปรแกรมอื่นช่วยเพื่อให้เข้าใช้งานได้) ชาวรัสเซียในต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่อยากแชทอย่างเป็นส่วนตัว ปราศจากการแทรกแซง

กลับมาดูที่สถานการณ์ในช่วงนี้ ศูนย์ปฏิบัติการจัดการสถานการณ์โควิดของกรุงมอสโกก็ใช้ Telegram คอยรายงานสถานการณ์ให้กับประชาชน ทั้งอัพเดทข่าวรายวัน นำเสนอภาพกราฟฟิกสวยงาม อธิบายมาตรการต่างๆ รวมถึงตอบคำถามประชาชนอย่างเนืองๆ จนถึงเดือนเมษายนมีผู้ใช้งานที่เข้ามากดติดตามข้อมูลข่าวสารของศูนย์ในช่องทางนี้รวมแล้วเกือบ 3 แสนคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ใช้แอพฯ นี้มารายงานสถานการณ์กับเขาด้วยเหมือนกัน

งานนี้เลยมีส.ส.รัสเซียยกเอาประเด็นนี้มาเสนอ เขียนหนังสือจ่าหน้าถึงกระทรวงการสื่อสาร ไหนๆ รัฐบาลก็ใช้เป็นช่องทางสื่อสารอย่างเป็นทางการในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศแล้ว ทำไมไม่ยกเลิกกฎหมายแบนไปด้วยเลยล่ะ พร้อมระบุว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า Telegram มีความสำคัญในการสื่อสารของประเทศอย่างไร นอกจากการบล็อกไม่สามารถหยุดการใช้งานได้จริงแล้ว ยังเป็นภาพลบที่ไม่ดีต่อการใช้อำนาจรัฐอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ทางการรัสเซียเคยออกมาอธิบายว่าการใช้ Telegram ในประเทศยังถือว่าเป็นเรื่อง “ถูกกฎหมาย” กระทรวงการสื่อสารพยายามบล็อกการใช้งาน ไม่ได้หมายความว่า “แบน” การใช้ ด้านโฆษกประธานาธิบดี เมื่อมีข่าวออกมาเช่นนี้จึงรีบออกมาแก้ไขความเข้าใจผิด ระบุว่าไม่ว่ายังไงแอพพลิเคชันดังกล่าวจะต้องถูกบล็อกต่อไปตามคำสั่งศาลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพียงแค่ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไป และไม่ขอออกความเห็นใดๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้อีก

สรุปว่ารัฐบาลรัสเซียจะบล็อกหรือจะแบน จะห้ามหรือจะให้ใช้ Telegram ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนนัก แต่ปรากฎการณ์และตัวเลขผู้ใช้งานแอพฯ ดังกล่าวที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่าคนยุคใหม่ใส่ใจเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น กลับกันกับที่ผู้ปกครองเริ่มหวาดวิตกกับความปลอดภัยบนโลกไร้พรมแดน ทำให้นึกถึงคำถามบนเวทีนางงามระดับโลกเมื่อปีที่ล่าสุดที่ "ฟ้าใส ปวีณสุดา" มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 โดนจ่อไมค์ถามในรอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นร้อนถกเถียงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ระหว่างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (Privacy vs Security) เราควรจะให้ความสำคัญอะไรก่อนกัน?

 

** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **

Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย