พระเอก“กองทุน4แสนล้าน” อุ้ม“อสังหา-ท่องเที่ยว-นอนแบงก์”

15 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

คอลัมม์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3566 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 16-18 เม.ย.63 โดย....พรานบุญ

 

เสียงถกเถียงของบรรดา “กูรู+กูรู้” ถึงมาตรการของรัฐบาล ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระโดดออกมาอัดฉีดเงินผ่านมาตรการ “คิวอี” เพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ในวงเงิน  4 แสนล้านบาท ดังสนั่นไปทั้งป่าคอนกรีต

กลุ่มหนึ่ง เป็นกูรูด้านเศรษฐศาสตร์ หัวหอกนำทีมโดย “ดร.โกร่ง-วีระพงษ์ รามางกูร-ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล” บอกว่าการทำแบบนี้ทำให้ธนาคารชาติพังในระยะยาว เพราะต้องแบกรับความเสี่ยงแต่อาจมีความผิด ถูกฟ้องร้องในอนาคตเมื่อฟ้าเปลี่ยนสี

อีกกลุ่มเป็นฝ่ายสนับสนุนธปท.ให้เลิก “ยืนตรง” รีบออกมาดูแลเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศก่อนที่จะพังพาบ เพราะ “เงินสดขาดมือ” ธุรกิจขาดสภาพคล่อง และจะเกิดปรากฏการณ์ “ผิดนัดชำระหนี้” ของบริษัทใหญ่ และสุดท้ายจะลามไปที่บริษัทขนาดเล็กและสถาบันการเงิน

นังบ่างบอกกล่าวออกมาว่า ปรากฏการณ์ที่ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ-ธาริษา วัฒนเกษ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีต 2 ผู้ว่าการ ธปท.ดาหน้ากันออกมาสนับสนุนรัฐบาลลุงตู่ อย่างแข็งขัน นั้นไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง

นังบ่างบอกว่า เฉพาะ “หม่อมอุ๋ย&คณะ” นั้น การออกมาสนับสนุนแนวทางการออกนโยบายกอบกู้เศรษฐกิจของรัฐบาลุลงตู่นั้นหลายคนบอกว่า “มีนัย” หลายอย่างให้อ่าน ให้ค้นหากัน

แต่นั่นไม่เท่ากับการที่ ผู้นำภาคเศรษฐกิจต่างตั้งตารอกันว่า “เงินกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน : Corporate Bond Stabilization Fund (BFS)” 400,000 ล้านบาท จะนำไปโอบอุ้มบริษัทไหน และใครจะเป็นผู้บริหารจัดการ

พรานออกล่าสัตว์ในป่าดงดิบของประเทศไทยขอบอกว่า งานนี้ “บริษัทใหญ่ในธุรกิจโรงแรม สายการบิน อสังหาริมทรัพย์ บริษัทเงินกู้ด่วน” ล้วนแล้วแต่ได้อานิสงส์

ถ้าไม่ได้เงินก้อนนี้มาช่วยรับรอง “ตายอย่างเขียด” หุ้นกู้ ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด ไม่มีทางได้ต่ออายุแน่นอน หรือถ้าได้ต่ออายุก็คงไม่ทั้งหมด ต้องไปหาเงินกู้ดอกเบี้ยสูงมาพยุงธุรกิจแน่นอน

เพราะวิกฤติโควิด19 เที่ยวนี้นั้น ไวรัสมันกัดกินเงินในกระเป๋าของคนในชาติให้ขาดเงิน ขาดรายได้ ผู้คนจนลงไปเกือบ 80% ของคนในประเทศ

แต่หุ้นกู้เอกชนที่มีการกู้ยืมกันกว่า 3.6-3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกปีนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป มักจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่าปีละ 8-9 แสนล้านบาท จะต้องมีการต่ออายุ (Roll Over) หรือกู้เงินใหม่ ออกหุ้นกู้ใหม่มาหมุนใช้เงินกู้เดิม ถ้าใครไม่จัดการบอกคำเดียวว่า “เสียวไปทั้งประเทศ”

พรานได้ยินฟันด์แมเนเจอร์พูดคุยกันผ่านห้องเชตรูม ผ่านการประชุมวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ว่า ถ้าไม่มีเงินก้อนนี้มา รับรองไม่น้อยกว่า 100 บริษัท ชะตาขาด เพราะ “การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้-คู่ค้า” จะมากันเป็นทิวแถว

เพราะบริษัทต่างขายสินค้าได้น้อยลงมาก จากกิจการถูกปิดชั่วคราว ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังอยู่ ทำให้บางแห่งไม่มีเงินสดในมือเพียงพอ เมื่อหุ้นกู้ก้อนโตถึงกำหนดชำระคืน บริษัทก็จะ “ขาดสภาพคล่อง” จะไปขอกู้ธนาคาร ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ แบงก์ก็มักจะปฏิเสธคำขอ ครั้นจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ตลาดหุ้นก็ไม่พร้อมจะซื้อหุ้น ยิ่งกลายเป็นวัวพันหลักจนเกิดวิกฤติของบริษัทขึ้นมาทันที

กองทุน 4 แสนล้าน จึงกลายเป็น “น้ำทิพย์” ชะโลมใจ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มบริษัท 

กลุ่มแรกเป็น ธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งแต่ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจพลาซ่า บริษัทเหล่านี้ถ้าไม่ช่วยรับรองเอาตัวเองไม่รอด เพราะโดนกระทบหนักสุด และในระยะ 2-3 ปีมากลุ่มนี้ก่อหนี้มหาศาล เพื่อขยายธุรกิจออกไปจากการท่องเที่ยวที่บูม

กลุ่มที่สองคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านและคอนโดมิเนี่ยมเป็นหลัก  ตอนนี้เริ่มชัดว่าวิกฤติโควิดทำให้ขายบ้านได้น้อยลง ลูกค้าทั้งเมืองไทยและเมืองนอกที่จองซื้อล้วนแล้วแต่ “จบเห่” เพราะโควิด-19 เลิกใบจอง เลือกผ่อนจ่าย ทิ้งดาวน์กันขนานใหญ่ แต่หลายบริษัทได้ระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มาหมุนและขยายกิจการจำนวนมาก และหุ้นกู้ของกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่ใกล้ถึงกำหนดชำระคืนในเดือน 2 เดือนนี้ จำนวนมหาศาลหลายหมื่นล้านบาท 

กลุ่มสุดท้ายคือ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจเงินกู้ด่วน ที่ไม่ได้รับเงินฝากจากประชาชน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนี้ขยายตัวเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักมาอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มนี้กลายเป็นบริษัทที่กู้เงินมหาศาลมาปล่อยเงินกู้ต่อ ผ่านทางสินเชื่อเงินสด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเงินด่วน 

พรานได้ยินมาว่า กลุ่มนี้ต้องมีเงินกู้มาหมุนใช้ในแทบทุกเดือน 2 เดือน และที่ผ่านมาถูกโขกดอกเบี้ยขึ้นไปจากเดิมไม่น้อยกว่า 1-2% ก็ยอม ถ้าปล่อยนานกว่านี้อาจจะสูงเป็น 3%

ใครไม่เชื่อไปถาม “เฮีย-กะซ้อ” เจ้าพ่อเงินกู้ได้ และไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มเงินติดล้อ แต่หมายถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทั้งระบบที่กระจายตัวออกไปในทุกตรอกซอกซอยกว่า 100 บริษัท

กองทุนพยุงตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท จึงเป็นพระเอกหรืออัศวินม้าขาวในยามที่ “เงินสด” กำลังขาดมือไปทุกหย่อมหญ้า แต่ดูเหมือนว่า จะหาคนมา “ทำ” ยากมาก เพราะธปท. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. และคณะ ความรู้ดีแต่ปฏิบัติยังขลุกขลัก สุดท้ายมีคนเสนอไปว่า “ให้ธนาคารกรุงไทย” เป็นผู้จัดการดีที่สุด เพราะมีประสบการณ์ตรง และรู้เทคนิคทางการเงินและรู้ตลาดมากที่สุด

พรานฯและอีเห็น ไปฟังมาว่า กองทุนยังไม่ตั้งไข่ “รายการคุณขอมา” จากบรรดานักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีบารมี ที่เป็นขาใหญ่ถูกลิสต์ไว้เต็มไปหมด

ว่าแต่ว่า “ธนาคารกรุงไทย” จะรับมาเป็นโต้โผในการจัดการแทนที่ ธปท.หรือไม่ 

ถ้ารับมาบริหารจัดการ พรานว่า “ปลัดสงค์-ประสงค์ พูนธเนศ” ประธานกรรมการ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ คงปวดเฮดน่าดู! 5555