จ่ายเกษตรกร1.5หมื่น ระวังเหลือบแทะซากโควิด-19

10 เม.ย. 2563 | 12:00 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3565 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย.63 โดย…กระบี่เดียวดาย

 

         รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกพ.ร.ก.กู้เงินหลายฉบับนับรวมวงเงิน 2 ล้านล้านบาทในการอัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อฟื้นฟูระบบและกลไกทางเศรษฐกิจ เยียวยาเฉพาะหน้าผลกระทบอันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทุบทำลายทุกองคาพยพเศรษฐกิจสังคมไทย

         ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงเกิน 1.5 ล้านคนทั่วโลกไปแล้ว และยังไม่มีทีท่าสิ้นสุด ทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพื่อพยุงไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯที่พิมพ์ดอลลาร์อัดฉีดแบบไม่อั้น กระทั่งธนาคารกลางยุโรป จีน ออสเตรเลีย ที่ถมเงินเข้าสู่ระบบกันเป็นจำนวนมาก

         การออกพ.ร.ก.กู้เงินครั้งประวัติศาสตร์ อย่างที่ไม่เคยมีจำนวนของการกู้ที่สูงกว่านี้มาก่อนโดยรัฐ  สะท้อนชัดว่าวิกฤติคราวนี้หนักหนาและต้องใช้เงินเยียวยาฟื้นฟูมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านๆ มา

 

         “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กู้มาก กู้น้อย แต่อยู่ที่การใช้มากกว่า ตรงจุด ตรงเป้าไหม ถ้าใช้ไปในจุดต่างๆ ตามเป้าหมาย คำปรารภของการออก พ.ร.ก.กู้เงินแล้วโอกาสที่เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นอย่างไร เมื่อไหร่ ตรงนี้เป็นคำถามตัวโตๆ ที่รัฐบาลลุงตู่ต้องตอบข้อกังขาให้ได้ เพราะการกู้รอบนี้แทบจะทำให้หนี้ชนเพดาน แต่เมื่อนำเงินออกมาแล้วต้องไม่ยิงกระสุนแบบสะเปะสะปะ มันแทบเป็นกระสุนล็อตสุดท้ายแล้ว ต้องยิงให้ตรงเป้าและเห็นผล”

         กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สศค.ได้จ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิดไปบ้างแล้ว โดยจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทต่อเดือนนี้ เดิมทีประมาณการกันว่าจะจ่ายให้กับคน 3 ล้านคน ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ว่างงานตกงานได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์ เช่น พ่อค้าแม่ขายในตลาด

         แต่มีผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ส่งเงินประกันตนกับประกันสังคม หรือส่งเงินฝ่ายเดียว เพราะกลุ่มนี้ไม่มีนายจ้าง ที่เรียกว่าผู้ประกันตนมาตรา 39-40 ที่มีจำนวน 5 ล้านคน เดิมทีกลุ่มนี้ต้องไปขอรับเงินจากกองทุนประกันสังคมแทน แต่ประกันสังคมปฏิเสธการจ่ายเงินให้กลุ่มนี้ ภาระจึงต้องตกกลับมาที่กระทรวงการคลัง

         เดิมทีกระทรวงการคลังประมาณการผู้รับสิทธิหรือกลุ่มเป้าหมายในการจ่ายเงินเยียวยา โดยดูจากประชากร 66 ล้านคน กลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี (ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน) 11 ล้านคน กลุ่มกำลังแรงงาน 44 ล้านคน แบ่งเป็น ข้าราชการ 2 ล้านคน เกษตรกร 17 ล้านคน พนักงานมีนายจ้างมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน แรงงานมาตรา 39-40 ประกันตน 5 ล้านคน อาชีพอิสระ ค้าขาย 3 ล้านคน ว่างงานเรียนหนังสือ 6 ล้านคน

         “ประมาณกันจากตัวเลขประชากรวัยทำงานทั้งหมด เมื่อประกันสังคมโยน 5 ล้านคน มารวมกับ 3 ล้านคนตัวเลขจึงตกประมาณ 8 ล้านคน แต่ต้องดูที่กระทบจริงๆ เพราะหลายคนยังประกอบอาชีพได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด และแน่นอนเวลาเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิชดเชยกันแบบนนี้ กลุ่มไทยมุงหวังฟลุกมีเยอะ เหมือนที่เกิดขึ้นและเป็นคดีความอยู่ในขณะนี้ กรณีสาวโพสต์ได้รับเงินเยียวยาแล้ว ก็แค่เศษเงินหลังตู้เย็น”

 

         การรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยไม่เดือดร้อนจริง ไปเบียดบังผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนจริง เป็นสิ่งที่ต้องประณาม เพราะในยามยากเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับทุกข์จากโรคระบาดโควิด-19 ในระดับที่ไม่มีงาน ไม่มีกินนั้นเป็นทุกข์ที่แสนสาหัสอยู่แล้ว จึงไม่ควรที่มีใครไปเบียดบังซ้ำเติมความทุกข์ของพวกเขาอีก

         “อันแรกต้องตั้งโจทย์ให้ตรงกันก่อนว่ารัฐบาลไม่มีเงินมากพอ ในการจ่ายเงินให้กับทุกคนในประเทศนี้ได้ ต่อให้กู้มาเฉียด 2 ล้านล้านก็ตาม ฉะนั้นผู้ที่มีกำลังไม่ควรถือเป็นสิทธิว่าฉันต้องได้ แต่ต้องมีสำนึกเห็นอกเห็นใจผู้ที่เดือดร้อนจริงจำนวนมาก ให้เขามีโอกาสได้ โดยไม่เบียดบังเขา และต้องพึงระวังกรณีผู้รับเงินเยียวยาโดยแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ สามารถตรวจสอบได้และอาจมีความผิดแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันนี้มีโทษถึงจำคุก”

         นอกจากเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว ก้อนที่จะต้องจ่ายเยียวยาที่สุดเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกำลังถกเถียงวิเคราะห์กันว่าตัวเลขเท่าไหร่จึงเหมาะสมกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

         “ประเมินกำลังการจ่าย ผลกระทบครอบครัวเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน จ่ายคราวเดียว 1,5 หมื่นบาทต่อครัวเรือนน่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ให้เขาได้ไปเตรียมซื้อหาปัจจัยการผลิตในฤดูกาลใหม่ แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และตรวจสอบข้อมูลกับฐานข้อมูล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) อีกที”

         แน่นอนเวลาจ่ายเงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือจากรัฐแต่ละครั้ง มักจะมีเสียงโวยวาย บริภาษ ทำไมคนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้ รัฐบาลจำต้องแยกและอธิบายความกันให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นมือ เพื่อป้องกันข้อครหา

         กรณีเกษตรกร คำถามที่มาแน่ เกษตรกรมีที่ดิน 200 ไร่ กับเกษตรกร 15 ไร่ และเกษตรกรไม่มีที่ดิน แต่ทำอาชีพเกษตรกรด้วยการเช่าที่บ้าง รับจ้างบ้าง เมื่อเกิดความลักลั่นของการได้หรือไม่ได้ ก็จะมีคำถามตามมา ยิ่ง โดยเฉพาะราคาผลผลิตเกษตรหลายรายการตกต่ำมากในช่วงนี้

         อย่างไรก็ดีผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างทุกระดับชั้นในรอบนี้ ต้องแบ่งปันความทุกข์และเจ็บปวดร่วมกันช่วยเหลือเยียวยากันตามกำลัง

         ที่สำคัญต้องระวังอย่าให้มีพวกมาร พวกเหลือบ คอยหากินกับเศษซากโควิด-19 ที่สร้างความระทมทุกข์ไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว