โควิด-19 พายุซํ้าเติมเศรษฐกิจไทย

08 เม.ย. 2563 | 04:30 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3564 หน้า 7 วันที่ 9 -11 เมษายน 2562

โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้แพร่ระบาดไปในวงกว้างอยู่ในภาวะแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Global Pandemic) ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อโรคดังกล่าวมีอัตราเร่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจะพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจีนเริ่มผ่อนคลายลง แต่กลับพบว่ามีการแพร่ระบาดไปในหลายประเทศทั่วโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและประเทศในสหภาพยุโรป

ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก อยู่ที่ 823,626 ราย เป็นการเพิ่มขึ้น 106% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส
โควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 40,598 ราย โดยสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุด รองลงมาคือ อิตาลี จีน สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส อิหร่าน อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ 

สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 2 เมษายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,875 ราย เป็นการเพิ่มขึ้น 156% จากสัปดาห์ที่ผ่านมา และเสียชีวิตไปแล้ว 15 ราย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าที่ประเมินไว้และตํ่ากว่าศักยภาพมากขึ้นในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยระดับศักยภาพหรือระดับธรรมชาติการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 อยู่ที่ 3.7% 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโตเพียง 2.4% ภายใต้การเผชิญแรงกดดันจากภายนอกประเทศทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าและปัจจัยภายในประเทศได้แก่ภัยแล้งและความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ประกอบกับอัตราการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ จากต้นปี 2562 ที่ 0.78% เดือนมกราคมปี 2563 อยู่ที่ 1.07% การผลิตที่ตํ่ากว่าระดับธรรมชาติหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงหรือถดถอย ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1% และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.50 บาท ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาเป็นเวลานาน ทำให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสะท้อนถึงการลงทุนในประเทศที่น้อยลง โดยสัดส่วนการลงทุนในช่วงปี 2558 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP และประเทศไทยพึ่งการส่งออกสูง โดยการส่งออกมีสัดส่วนถึง 70% ของ GDP 

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลให้สินค้าเราแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และทำให้การส่งออกหดตัว ในปี 2562 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 10.08 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีมูลค่าการส่งออก 10.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่ แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นแต่ปรากฏว่าการนำเข้าหดตัวมากกว่าการส่งออก เนื่องจากว่ากำลังการผลิตของโรงงานยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินและใช้ได้ไม่เต็มกำลัง ส่งผลให้แม้เครื่องจักรถูกลงเนื่องจากบาทแข็ง แต่ก็ไม่ได้ถูกนำเข้ามามาก ทำให้ประเทศเรายังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่

ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นต้องพิจารณาว่าโควิด-19 มีผลกระทบต่ออุปสงค์อย่างไร เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะเห็นได้ว่าแหล่งรายได้หลักของประเทศคือภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวมีจำนวน 39.8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1.88 ล้านล้านบาท ผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 18 มีนาคม นักท่องเที่ยว ลดไปกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 15-18 มีนาคม จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงราว 83% และมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้หลายประเทศออกมาตรการควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึงมาตรการปิดประเทศในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ จะเห็นว่าภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งทั้งทางบกและอากาศ ค้าปลีก และสาธารณูปโภคพวกอาหารเครื่องดื่ม ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยแรงงานในส่วนของการท่องเที่ยวที่มากถึง 12 ล้านคนจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ก็จะส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลงมากขึ้นด้วย 

 

โควิด-19 พายุซํ้าเติมเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก (Supply disruption) เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนและญี่ปุ่นกล่าวคือไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางไปจีนและญี่ปุ่น การหยุดผลิตในจีนและญี่ปุ่น ก็จะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าขั้นกลางลดลง 

ในขณะเดียวกันไทยยังต้องการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากจีนและญี่ปุ่นด้วย เมื่อประเทศเหล่านี้หยุดผลิตก็จะทำให้การส่งออกของไทยลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุตสาหกรรมที่ได้รับผล กระทบ อาทิ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยาง พลาสติก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า การส่งออกปีนี้จะติดลบถึง 8.8%

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่องและปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหวาดระแวง กังวล และแตกตื่น ประกอบกับมาตรการปิดห้างสรรพสินค้า ปิดสถานที่ทำการ ปิดผับบาร์ งดการเดินทาง ให้อยู่ในที่พัก การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social distance) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้การบริโภคลดลงโดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าในภาคบริการ รายได้ลดลงการใช้บริการก็ลดลง การเดินทางและการท่องเที่ยวลดลง 

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากตลาดเงินและตลาดทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ดัชนีลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากตลาดตื่นตระหนกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความมั่งคั่งของคนลดลง การบริโภคก็ปรับตัวลดลงตาม ในส่วนของการลงทุน อาจดูได้จากตลาดหุ้นเช่นกัน ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ราวๆ 1,400 จุด แสดงว่าตลาดไม่ได้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดี ผลกำไรในปัจจุบันและผลกำไรคาดการณ์ในอนาคตไม่สูงขึ้นทำให้ราคาหุ้นไม่เพิ่มขึ้น 

เมื่อราคาหุ้นไม่เพิ่มขึ้นบริษัทจะไม่ลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่ซื้อเครื่องจักร ไม่ขยายโรงงาน ยิ่งไปกว่านั้นปี 2562 มีหลายบริษัทที่ต้องปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้การลงทุนลดลง และนำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานหรือเลิกจ้าง คนตกงานเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลให้ให้ตลาดหุ้นดิ่งลงหนักเข้าไปอีก หลายบริษัทลดระดับการผลิตลงในการตอบสนองต่ออุปสงค์ที่ลดลงนำไปสู่ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดว่าปีนี้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท อาจติดลบราว 3-5% แรงงานในระบบประกันสังคมถูกเลิกจ้างประมาณ 1-1.5 ล้านคน และแรงงานลูกจ้างอิสระนอกระบบ โดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs อีกมากกว่า 3 ล้านคน

 

ดังจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง และกำลังถูกซํ้าเติมให้แย่ลงจากเดิมจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและภาคส่งออกซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยังส่งผลต่อเนื่องไปยังความต้องการภายในประเทศ ทำให้มีผลกระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย แรงขับเคลื่อนเดียวที่เหลืออยู่คือการลงทุนและการอุปโภคของภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในปีนี้ 

จากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบถึง 5.3% เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2541 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบเกือบ 8% และเทียบกับช่วงวิกฤติทางการเงินในสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยติดลบประมาณ 1% ในปี 2552 

ดังนั้น ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรงนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2541 และหวังว่าจะไม่รุนแรงมากกว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ภายใต้การดำเนินมาตรการเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายทั้งการเงินและการคลังของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ต้องดำเนินไปอย่างจริงจังและเร่งรีบเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด 

ในอีกด้านหนึ่งภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการช่วยพยุงเศรษฐกิจโดยการเร่งจัดการปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยให้ดำเนินต่อไปได้ ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือแรงงานโดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งในภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิต รวมทั้งแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมและขาดรายได้จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นลำดับต้นๆ 

ในขณะเดียวกัน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดจบลง ก็จะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงในระยะเวลาไม่นานมากนักและสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และต่อเนื่องไปในปี 2564