ไชโย ธปท.ลงจากหอคอย ฉีดเงินกู้ศก. 9 แสนล้าน

08 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3564 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.623 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          7 เมษายน 2563 จะเป็นวันประวัติศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยอีกครั้ง

          เป็นประวัติศาสตร์การคลัง เนื่องจากคณะรัฐมนตรี รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาอนุมัติเงินกู้เพื่อมาเยียวยาฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังจมดิ่งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก้อนโต “เฉียด 2 ล้านล้านบาท” แยกเป็นกระทรวงการคลังจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 9 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท” มากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยกู้เงินมาเยียวยา ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะสลบพังพาบไปทั้งประเทศ

          เป็นประวัติศาสตร์ทางการเงินของประเทศ เพราะจะมีการเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ผ่านการ ออก พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินร่วม 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังจากมีการยกเลิกแนวทางนี้มายาวนาน...

 

          ท่ามกลางคำถามจากประชาชน ภาคธุรกิจ นักการเมืองว่า ธปท.จะตรวจสอบอย่างไรว่า ผู้เดือดร้อนจริงจะได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา ไม่ใช่ช่วยเพียงลูกค้าเดิมของธนาคารแต่ละแห่ง

          เป็นประวัติศาสตร์ด้านนโยบายการเงิน เพราะจะมีการเปิดทางให้ ธปท.ใช้มาตรการ “กึ่งอัดฉีดเงินเชิงปริมารณ(QE)” ผ่านการออก พ.ร.ก. ให้ธปท.สามารถรับซื้อพันธบัตรตราสารหนี้เอกชนไทย วงเงินร่วม 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการพยุงตลาดเงิน ตลาดทุนที่มีการระดมเงินกันอยู่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของธุรกิจกว่า 3.5 ล้านล้านบาทไม่ให้ “ล้มพัง” เพราะผู้ออกตราสารหนี้ขาดเงินหมุน

          พ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.รับซื้อพันธบัตรตัวนี้แหละ น่าจะสุ่มเสี่ยงและโลดโผนที่สุด เพราะไม่เคยมีมาตรการนี้ในประเทศไทยมาก่อน ที่ธปท.จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นในตลาด ด้วยการเข้ามารับซื้อตราสารหนี้ หุ้นกู้ได้โดยตรงทันที เพราะปกติ ธปท.จะเป็น “ผู้เล่นสุดท้าย” (the last resort) แต่มาตรการนี้ทำให้ธปท.กลายเป็นผู้ซื้อโดยตรงเป็นครั้งแรก ไม่เหมือน QE ของอเมริกา-ยุโรป

          คำถามตัวโตๆ ที่ก้องไปทั่วคือ ธปท.จะซื้อหุ้นกู้-ตราสารหนี้ในราคาเท่าไหร่ มีส่วนลดหรือไม่?

          การเข้าไปอัดฉีดเงินผ่านมาตรการกึ่ง QE ผ่านการรับซื้อหุ้นกู้ ตราสารหนี้รอบนี้ ธปท.จะมีมาตรการที่ทำให้ผู้ถือหุ้นและธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของตราสารหนี้แต่ละชุดจะร่วมรับผิดชอบอย่างไร?

          ระดับอันดับเครดิตของตราสารหนี้ที่สะท้อนความเสี่ยง ที่จะมีการช่วยเหลือผ่านการต่ออายุอยู่ในระดับไหน จะยืนระดับBBB-ขึ้นไป หรือลงมาที่ระดับคนตัวเล็ก BBBหรือไม่ ตรงนี้จะมีการถล่มแน่

          เพราะถ้าทำไม่ดี จะเป็นการ “ช่วยแค่บริษัทของคนรวย” ช่วยอุ้มผู้ประกอบการใหญ่ แต่รายเล็กเครดิตตํ่ากว่าเกรดที่ธปท.กำหนดไม่ได้นับการช่วยเหลือเยียวยา 

          เรื่องการช่วยรับซื้อตราสารหนี้เพื่อพยุงตลาดทุนเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตาม แต่ผมอยากพามาดูเรื่องการอัดฉีดเงินช่วยเอสเอ็มอี ที่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะขณะนี้ความเดือดร้อนของ “คนตัวเล็ก” กระจายตัวไปในวงกว้างที่สุด และกำลังรอการช่วยเหลือมากสุด

          ทว่า นับตั้งแต่มีการแก้ไข “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551” เป็นต้นมา บทบาทของ ธปท.ในการปล่อย “สินเชื่อผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ” ได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง เพราะ ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง

          ในยุค “ฉลองภพ สุสังกรณ์กาญจน์” เป็น รมว.คลัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ โครงสร้างของธปท. ให้เหมาะสมกับภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 

          จะเห็นได้ว่า “กระทรวงการคลัง-ธนาคารกลาง” ยึดเอา “มาตรฐานสากล” มาควบคุมระบบการเงินใน “ประเทศกำลังพัฒนา” โดยมิสนใจ “หมู่หรือจ่า-กาหรือไก่”

          กระทั่งเจอมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มีความรุนแรงมากสุดในรอบ 50 ปี ได้ส่งกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ เกิดความเสียหายในรูปทรัพย์สิน และในรูปเศรษฐกิจกว่า 1.35 ล้านล้านบาท

          ตอนนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องแบกภาระใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินมาแก้ปัญหาน้ำท่วมร่วม 3.5 แสนล้านบาท แต่ไม่เพียงพอในการเยียวยาผลกระทบ

 

          กู้ก้อนมหึมาขนาดนั้นยังไม่พอ ฝ่ายการเมืองจึงไปกดดัน “ธปท.” ที่ตอนนั้นมี “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ และประกาศยุทธศาสตร์การทำงานของธนาคารกลางว่า “ยืนตรง มองไกล ร่วมมือ ติดดิน” ให้ช่วยกลับมาทำหน้าที่ช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคเศรษฐกิจ ที่สำคัญผ่าน “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ซอฟต์ โลน” เหมือนที่เคยทำในอดีต

          ผมจำได้ว่า ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันหนักหน่วงจาก “นักการเงิน-นักเศรษฐศาสตร์-ภาควิชาการ-กูรู-กูรู้”

          บ้างก็ว่า แนวทางนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารกลางที่ดีพึงควรกระทำ บ้างก็ว่าเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ น่าจะเป็นข้อยกเว้นชั่วคราวได้

          นักกฎหมายการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ฝักใฝ่ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หลายคนโจมตีว่า ผิดกฎหมาย นักการคลังบอกว่า ไม่ขัดกฎหมาย ธปท. เพราะไม่ได้เขียนห้ามไว้...เหมือนเถียงกันในรัฐสภาไทย เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี่แหละ...555 

          แต่ในที่สุด “หม่อมอุ๋ย-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล” ทุบโต๊ะเปรี้ยงเดียวว่า ในพ.ร.บ.ธปท. ที่มีการแก้ไขนั้น เปิดทางไว้ว่า ถ้ามีเหตุรุนแรงกระทบต่อเสถียรภาพการเงินและระบบเศรษฐกิจ ธปท.สามารถดำเนินการได้

          ปลายปี 2554 “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” รมว.คลัง จึงได้ลงนามในร่างพ.ร.ก. ให้ธปท. สามารถอัดฉีดเงินช่วยเหลือผ่านวิธีการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำพิเศษ วงเงิน 3 แสนล้านบาท

          แต่มีเงื่อนไขว่า ธปท.จะปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แค่ 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้สบทบ โดยธปท.จะคิดดอกเบี้ยกับแบงก์แค่ 0.01% เพื่อให้นำไปปล่อยกู้เอสเอ็มอี ประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยแค่ 3% เป็นเวลา 5 ปี และต้องปล่อยกู้ให้หมดในเวลา 2 ปี

          เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 แสนล้านบาท คิดดอกเบี้ย 0.01% กลายเป็น “ประวัติศาสตร์การอัดฉีดเงินดอกเบี้ยต่ำของธปท.” มาจนบัดนี้ โดยไม่มีใครทำลายสถิติ

          ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติเคยทำสถิติสูงสุดในการอัดฉีดเงินดอกเบี้ยต่ำผ่านการับซื้อตั๋วเงิน ตราสารหนี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจสูงสุด เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2531 ซึ่งตอนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการอัดฉีดเงินผ่านการซื้อตั๋วเงินตราสารหนี้ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม วงเงินเคยสูงสุด 149,318 ล้านบาท

          นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา แบงก์ชาติก็ทยอยลดการอัดฉีดเงินดอกเบี้ยต่ำมาดูแลภาคเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ด้วยการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์อัดเงินมาสมทบ 50% ก่อนจะเลิกอุดหนุนผ่านซอฟต์โลนอย่างเด็ดขาดในปี 2551 แม้จะมีวิกฤติทางการเงินหนักแค่ไหน แบงก์ชาติก็ยืนตรงในมาตรฐานสากลมายาวนาน

          แต่แล้ววิกฤติการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้แบงก์ชาติไม่อาจยืนเฉย กระโดดลงมาจาก “หอคอยงาช้าง” ด้วยการ “ยื่นมือ และติดดินอัดฉีดเงินก้อนโตร่วม 9 แสนล้านบาท” เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน สร้างกันชนให้ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับแรงกระแทกจากไวรัสโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กับผู้ประกอบการในประเทศไทย

          แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ การรับซื้อตราสารหนี้ การดูแลเรื่องการต่ออายุ Roll Over หุ้นกู้ ตราสารหนี้ จะต้องรัดกุมเป็นธรรม ทั่วถึงก็ต้องทำ

          การปล่อยกู้เงินดอกเบี้ยต่ำพิเศษ จะต้องสกัดไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ ฉวยโอกาสลดความเสี่ยงเฉพาะลูกหนี้ที่เห็นว่า อยากจะช่วย หรือดูแลไม่ให้เป็นเอ็นพีแอลเฉพาะกลุ่ม อันนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องกำหนดออกมาให้ชัดเจน

          แต่ในภาพใหญ่นั้นถือว่า ธปท.ได้ลงมาจากหอคอย งาช้าง ก้าวข้ามการทำงานในสถานการณ์ปกติแล้ว ขอคารวะแบงก์ชาติยุคใหม่แทนคนไทยทั้งประเทศ ในวาระนี้!