แผน-ทิศทางต้องชัดเจน กู้เงินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

08 เม.ย. 2563 | 05:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3564 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.63

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ณ วันที่ 7 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 38 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,258 คน หายเพิ่ม 31 คน รวม 824 คน เหลือผู้ป่วย 1,408 คน เสียชีวิตสะสมคงที่ 26 รายสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีอัตราลดลง แต่ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ หลายจังหวัดได้ยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันขึ้นสูงสุดมากไปกว่าการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ของศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ด้วยซ้ำ

หลายฝ่ายระดมมาตรการแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลัง เพื่อระงับยับยั้ง หน่วงโรคไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้ารณรงค์ขอความร่วมมือให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำงานที่บ้าน ซึ่งได้ผลที่น่าพอใจตามสมควร พร้อมกับการควบคุมการเดินทางโดยเฉพาะจากต่างประเทศที่เข้ามายากขึ้น เมื่อเข้ามาแล้วต้องกักกันสอบสวนโรค 14 วัน แต่ยังมีบางส่วนที่ขาดวินัย พร้อมที่จะแหกกรอบตลอดเวลา

การใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อสกัดยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนหยุดชะงักลง รวมทั้งผลพวงของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก่อนหน้าส่งผลให้เศรษฐกิจเสียหายหนักขึ้น ธุรกิจเลิกจ้างงาน แรงงานตกงานจำนวนมากขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบรรเทาผลกระทบระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางเศรษฐกิจรอบนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปี รัฐบาลจำต้องกู้เงินโดยใช้เม็ดเงินรวมกันประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยออกพร.ก.กู้เงินโดยกระทรวงการคลัง วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ใช้ดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ลูกจ้าง ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและอื่นๆ

การออกพ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้โดยตรงผ่านกองทุน การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบโครงการเงินกู้แบบผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ หรือซอฟต์โลน โดยธปท.ปล่อยกู้สถาบันการเงินไปปล่อยต่อให้ลูกค้าอีก 5 แสนล้านบาท รวมทั้งการตัดลดงบรายจ่ายปี 2563 ของแต่ละกระทรวง 10% เม็ดเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท รวมกับซอฟต์โลนคงเหลือของธนาคารออมสินอีก 1 แสนล้านบาท

การออกพ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้แม้จะเป็นจำนวนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เกิดจากเหตุจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจำต้องรอบคอบมีแผนการใช้เงินที่ตรงเป้าหมายชัดเจน ทั้งการเยียวยาระยะสั้นและการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาว ที่สำคัญต้องดูแลไม่ให้เกิดการรั่วไหล พร้อมกับมีแผนชำระหนี้เงินกู้อย่างเป็นระบบ บอกทิศทาง เป้าหมายให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจน ต้องคำนึงให้จงหนัก ใช้เงินของประชาชนให้คุ้มค่าอย่างแท้จริง