เสียงจาก “คนตัวเล็ก” … SMEs ไทย

08 เม.ย. 2563 | 04:20 น.

 

การเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องความเดือดร้อนถ้วนหน้า ไม่ว่าใคร ๆ หน้าไหนทั้งนั้น ระบบเศรษฐกิจดูหยุดชะงัก วูบไปดื้อ ๆ ซึ่งรัฐต้องออกกฎระเบียบ ปิดโน่น ห้ามนี่ รวมทั้งเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน การทำงาน และต่อภาคธุรกิจในที่สุด ซึ่งรัฐได้ออกมาตรการเยียวยาสองรอบแล้วนั้น และเพิ่งออกอีกรอบแบบจัดหนัก(7เม.ย.63) ก็พยายามกระจายออกไปครอบคลุมทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มแรงงาน อาชีพอิสระ กลุ่ม SME หรือกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ และภาคการเงินของประเทศ เพื่อให้บรรเทาผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้ให้กับทุกภาคส่วน

แต่แน่นอนว่ามาตรการที่ออกมานั้น เป็นการมองภาพรวมและให้กับทุกฝ่ายภายใต้ของที่รัฐมีอยู่ในกระเป๋า ทั้งของเดิมและที่เติมเข้ามาใหม่ วันก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ทั้งทางกลุ่มโซเซียลมีเดีย โทรศัพท์ และคุยส่วนตัว อาทิ คุณสราวุฒิ สินสำเนา คุณปรัชญาและคุณภาวิน อิทธิรส จากเชียงใหม่ คุณสุภาลักษณ์ กมลธรไท จากเพชรบูรณ์ คุณศมน ชคัตธาดากุล จากอุดรธานี คุณธนพล ตรีศักดิ์วัฒนพร จากนครสวรรค์ บุญช่วย พงษ์พัน จากบุรีรัมย์ คุณศิริศักดิ์ โสภา จากกาฬสินธ์ และอีกหลายคนหลายจังหวัด ที่พวกเขาสะท้อนถึงความในใจ ปัญหา ความคับข้องใจ อุปสรรค และความคาดหวังของพวกเขาที่มีต่อมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่มีต่อ SME ในสถานการณ์ครั้งนี้ ผมพอสรุปได้ประมาณนี้ครับ

1. ผลกระทบครั้งนี้มาไวและแรงมาก การช่วยเหลือต้องรวดเร็ว มาตรการประกาศแล้ว หน่วยปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้เร็ว เพราะรายจ่ายเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะค่าแรงงาน ถ้ารัฐสามารถแบ่งภาระส่วนนี้ไปครึ่งหนึ่ง โดยพร้อมที่จะจ้างงานต่อไปในอีกระยะหนึ่ง

2. มาตรการที่ออกมาซ้ำซ้อน หรือเหลื่อมกัน เช่น แรงงานที่ประกันตนเอง แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และแรงงานที่ยังทำงานอยู่แต่ถูกหักค่าจ้าง ฯลฯ รายได้ที่ได้รับการชดเชยจะต่างกัน ผู้ประกอบการบางรายต้องขอให้ลูกจ้างลาออกเพื่อไปรับเงินที่ได้รับจากรัฐ ซึ่งจะมากกว่าที่ได้รับจากสถานประกอบการที่ขอลดค่าจ้าง ทำให้เกิดการจ้างงานและปิดกิจการลงมากขึ้น

3. มาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุน หรือ งบประมาณสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการนำมาบริหารจัดการใน ธุรกิจ หรือ จ่ายค่าจ้างพนักงาน แรงงานได้ โดยคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่มีผลกระทบจากวิกฤตการณ์ และไม่มี การเลิกจ้างงานเป็นอันดับสำคัญก่อน

4. ควรพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และควรดำเนินการทันที โดยอัตโนมัติสำหรับลูกค้าประเภทไหนก็ดำเนินการไปเลย หากรอการพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบจากไวรัสหรือไม่ใช้เวลานาน

5. มาตรการด้านสินเชื่อที่ออกมานั้น ความคาดหวังของ SME ที่ได้รับรู้กับสิ่งที่ต้องเผชิญในทางปฏิบัติไม่เหมือนกัน ระเบียบ เอกสารที่ต้องการ และเงื่อนไขยังคงเป็นอุปสรรคแบบเดิม ๆ

6. มาตรการการเก็บภาษี จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ภาษีป้าย , ภาษีใบอนุญาต อย. ค่าธรรมเนียมมาตรฐานสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนถึง ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ควรงดเว้น หรือเลื่อนชำระ ออกไปก่อน

7. มาตรการของรัฐ โดยเฉพาะด้านการเงินสำหรับ SME มีเยอะมาก วัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพอธิบายในภาพรวมว่า กองไหนเพื่อใคร กองไหนสำหรับอะไร จะเป็นลงทุนใหม่ หมุนเวียน หรืออะไร ใครที่คุณสมบัติอะไรควรไปที่กองไหน เพราะทุกวันนี้ทุกคนวิ่งเข้าทุกที่ และพอถูกปฏิเสธให้ไปอีกที่หนึ่งก็จะเกิดความเข้าใจผิดว่าโยนไปมา

8. สุดท้ายจริง ๆ ที่ต้องการ ก็คือ พนักงานในสถาบันการเงินในพื้นที่ขอให้มีความเข้าใจตรงกันกับทางฝ่ายนโยบาย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะยึดระเบียบเดิม ๆ จนเกิดความเข้าใจผิดเสมอ ๆ

ส่วนที่พวกเขากำลังมองหาทางอยู่ ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองในระหว่างภาคเพื่อช่วยกันให้เกิดการซื้อขายในวงธุรกิจกันเอง หรือ Brother Trade แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เพื่อลดภาระการใช้จ่ายเงินและกระตุ้นให้เกิดการผลิตในการประกอบธุรกิจได้ ซึ่งถือว่าวิกฤติครั้งนี้ได้นำ SME หลายกลุ่มมารวมกันและช่วยกันมากขึ้น

นอกจากนี้ แม้ว่าวินาทีจะต้องดิ้นเพื่อดำรงอยู่ให้ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ แต่พวกเขาก็ยังมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง โดยตั้งโจทย์ง่าย ๆ ถ้าสถานการณ์ไวรัสจบในไม่กี่เดือนข้างหน้า SME ไทยต้องปรับตัวขนาดใหญ่ ทั้งความรู้ และแน่นอนภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินต้องสนับสนุนเพื่อให้หาเงินทุนได้ง่ายกว่าเดิม และในขณะที่อยู่ในช่วงนี้ รัฐอาจจ่ายเงินให้วิสาหกิจนำไปให้พนักงานและตัวผู้ประกอบการเองเพื่อให้ได้รับการอบรม พอให้มีรายได้จ่ายพนักงานและเป็นการเพิ่มความรู้ในคราวเดียวกัน สร้างความพร้อมให้วิสาหกิจเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวปกติ เรียกว่ายิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว

มาตรการที่ออกมาสองรอบนั้น ฟังแล้วแล้วอย่างไรก็ไม่พอ และยังมีที่ “คัน” อีกหลายจุดยังไม่ถูกเกา และระยะเวลาของการแพร่กระจายของไวรัสดูแล้วก็คงอีกหลายเดือน และผลกระทบนั้นยังอยู่กับเราต่อสักพักแม้ว่าไวรัสจะหยุดแพร่กระจายก็ตาม ธุรกิจจะกลับมาใหม่แต่ไม่เหมือนเดิมแน่ ๆ ดังนั้นแม้ว่ามาตรการที่ออกมาใหม่ในรอบสามและสี่ และต่อ ๆ ไปนั้นจะให้ความสำคัญกับการอยู่รอดในระยะสั้นของ SME แต่ต้องเผื่อมองการเตรียมความพร้อมของ SME ในบริบทธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่อีกมากด้วย

ทั้งหมดเป็นเสียงของกล่มผู้คนที่เป็นเส้นเลือดฝอยเศรษฐกิจที่กระจายอยู่ทั่วเมืองไทยกว่าร้อยละ 99 ของธุรกิจในประเทศ วันนี้กำลังได้รับบททดสอบที่รุนแรงและตอนนี้ถือว่าบอบช้ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ต้องการน้ำเลี้ยง กำลังใจ แรงสนับสนับจากพี่เลี้ยง (รัฐบาล) อย่างมาก เพื่อให้เขายังคงยืนต่อไปในเวทีนี้ได้