ถือศีลไม่ได้ก็เป็นชาวพุทธได้

05 เม.ย. 2563 | 22:55 น.

คอลัมน์ ทำมา..ธรรมะ โดย ราช รามัญ

มนุษย์เราทุกคนต่างมีความเป็นปัจเจกในตัวเองไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และในความเป็นปัจเจกนั้น หรือ อาจเรียกอีกอย่างว่า ความเป็นตัวเอง โดยมากนั้นมักจะส่วนทางกับทางด้านระเบียบของการใช้ชีวิตในกรอบแห่งปรัชญาของการใช้ชีวิตที่ตามแบบแผนของพุทธศาสนา
 

ตอนไปอยู่อินเดียเพื่อเรียนรู้ศาสนาปรัชญาต่างๆนานา ทั้งของฮินดู เซน และอื่นๆ ดูเหมือนแนวทางในการปฏิบัตินั้นอาจจะแตกต่างกันไปแต่สิ่งที่หน้าที่คิด คือ การเน้นปฏิบัติมากกว่าการยึดถือ


ส่วนทางด้านปรัชญาของพุทธนั้น นาคารชุนะ เป็นนักปรัชญาในช่วงพ.ศ. 700-800 เป็นผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะ และเป็นผู้ที่ทำให้ชาวยุโรปจำนวนมากหันมาศึกษาพุทธศาสนาแบบมหายาน เรียกได้ว่า นับแต่พระพุทธเจ้าแล้วก็มา นาคารชุนะ เป็นบุคคลที่มีปัญญามาก สามารถตอบข้อสงสัยธรรมทั้งปวงได้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ยึดอยู่ในตรรกอย่างแนบสนิท


ในบันทึกการเดินทางของพระถังซำจั๋งบอกว่าท่านเกิดเป็นพราหมณ์ เกิดในทางตอนใต้ของอินเดียและเป็นสหายของพระเจ้ายัชญศรี  แต่หลักฐานทางทิเบตนั้นบอกว่าท่านออกบวชตั้งแต่วัยเด็กเพราะโหราจารย์พยากรณ์ว่าอายุสั้น เลี้ยงพราหมณ์หลายครั้งหลายคราก็ไม่อาจรอดพ้นได้ ในที่สุดก็ปล่อยให้ท่านออกบวช 

ท่านจาริกมาถึงนาลันทา แล้วพบกับท่านราหุลภัทระ จึงได้ศึกษาที่นั่น จนกระทั่งแตกฉานอย่างมาก เรียนรู้ทุกอย่างเจนจบภายใน 90 วันเท่านั้นเอง
 

ในบันทึกทางทิเบตนั้นได้กล่าวชัดเรื่องหนึ่ง เมื่อมีผู้สนใจธรรมะมาสนทนากับท่านว่า ผู้คนธรรมดาทั่วไปนั้น ต้องทำมาหาเช้ากินค่ำ บางครั้งพูดคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง หยอกล้อบ้าง หัวเราะขำขันบ้าง ซึ่งถ้าจะให้ธรรมมากำหนดในการตรวจตราพฤติกรรม ก็หาได้ว่าเป็นผู้สำรวมในศีล หาเป็นผู้ที่ถือศีลไม่ ท่านจึงได้กล่าวสอนว่า


“ศีลไม่ใช่การแบกใส่บ่า แต่ศีลที่พระอริยะทรงยกย่องนั้น คือ การสำรวมในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ”


ครั้นเขาก็แย้งขึ้นว่า จะสำรวมได้กระไรนั่น ก็ต้องมีเฮฮาสุราร่ำกับเพื่อนบ้างในยามดีใจ ในยามสำเร็จ ในยามที่ปีติปราโมช ถ้าถือสำรวมในศีลไม่ได้ ถือศีลไม่ได้จะทำอย่างไรกันดี เพราะยังปรารถนาทำบุญสุนทรทานในพระศาสนาอยู่  นาคารชุนะ จึงได้กล่าวขึ้นว่า

“ถือศีลไม่ได้ก็ถือธรรม”

ท่านคงหมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไม่ใช่ตรัสรู้ศีล แต่ศีลเป็นเพียงแค่เครื่องยึดเหนี่ยวให้กายวาจาใจนั้นสำรวม แต่ในความจริงนัยของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าศีลรักษาไม่ได้ สำรวมไม่ได้ ก็ให้สำรวมในธรรม คือ


“การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุข ตัวเราต้องไม่เดือดร้อน คนอื่นต้องไม่เดือดร้อน สังคมต้องไม่เดือดร้อน นั่นแหละ ธรรม อันยิ่งที่ควรเคารพและยึดถือในการปฏิบัติ”


ถ้าเข้าใจในปรัชญาแบบนี้แล้ว เราทุกคนก็สามารถเป็นชาวพุทธที่ดีได้ด้วยการยึดในหลักธรรม เป็นเครื่องมือขัดเกลาจิตใจเตือนใจได้เสมอ 


ธรรมแบบนี้เหมาะกับฆราวาสคนธรรมดาทั่วไปอย่างยิ่งในยุคไอทีแบบที่ปลาเร็วกินปลาช้า จริงๆ