“บัณฑูร” แปลงกาย จาก “แบงเกอร์” สู่ “เอ็นจีโอ”

05 เม.ย. 2563 | 02:00 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3563 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 5-8 เม.ย.63 โดย... พรานบุญ

ป่าแตกเจ้าข้าเอ้ย... ป่าแตก!

 

เสียงลิงค่าง นังบ่าง อีชะนี ร้องดังระงม เมื่อจู่ๆ “เสี่ยปั้น-บัณฑูร ล่ำซำ”บุรุษผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนตรง 2,000 ปี และเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นผู้นำค่าย “KBANK ได้แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

 

ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร KBANK จึงมีมติแต่งตั้ง เจ๊น้อง-กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการ ผู้ซึ่งเป็นกรรมการอิสระก้าวขึ้นทำหน้าที่รักษาการประธานกรรมการ

 

หากเจ๊น้อง-กอบกาญจน์ ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อไหร่ เธอจะก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระคนแรกของค่ายกสิกรไทย และเธอจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับธนาคาร เพราะไม่ได้มาจากคนในตระกูล “ล่ำซำ” นับตั้งแต่ “โชติ ล่ำซำ” ก่อตั้งมาเมื่อปี 2488

และน่าจะเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ผู้บริหารระดับเบอร์ 1 ของธนาคารกสิกรไทยจะกลายเป็น “คู่ดูโอ-ผู้หญิง” เมื่อคณะกรรมการตั้ง “ขัตติยา อินทรวิชัย” ทายาทลุงสังเวียน อินทรชัย เอกบุรุษในตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันเป็น 1 ใน 4 กรรมการผู้จัดการ ก้าวขึ้นเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร”

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายสีเขียว จึงทำให้ป่าใหญ่แตกกระเจิง พนักงานกว่า 20,402 คน ที่จงรักภักดีทำงานมาอย่างยาวนานและลูกค้าของธนาคารที่มีอยู่ร่วม 20 ล้านราย ต่างอ้าปากค้าง ตั้งคำถามดังๆ ออกมาทั่วทั้งพาราว่า คุณปั้นไปไหน ทำไมถอยเร็ว

 

อีเห็นบอกว่า ไม่ต้องถามไถ่มาก 7 มีนาคม 2563 ขัตติยา อินทรวิชัย และ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร จะออกมาพูดคุยกับสื่อมวลชนทางออนไลน์ในวันที่ 7 เมษายน 2563 และ บัณฑูร ล่ำซำ จะพูดคุยทางออนไลน์วันที่ 8 เมษายน 2563

 

กระนั้นก็ไม่ทำให้ป่าใหญ่นิ่งสนิท เสียงป้องปากซุบซิบเต็มไปหมดถึงอนาคตของค่าย “KBANK” ที่มีมูลค่าทางการตลาดถึง 3.5 แสนล้านบาทอื้ออึงไปทั่ว

 

เพราะบัณฑูรคือสัญญลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทยมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2535 เมื่อก้าวขึ้นนั่งเป็น “กรรมการผู้จัดการ” แทนที่จะเป็น “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” รองกรรมการผู้จัดการในขณะนั้น

 

ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ บัณฑูรได้เปลี่ยนแบงก์รวงข้าวให้เติบใหญ่ฝ่าคลื่นลมพายุทางเศรษฐกิจมาครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยสไตล์การทำงานที่เป็น “รุก-รับ-เร็ว” และกล้าที่จะ “นำ-ปรับ-เปลี่ยนวิธีการทำงาน” แบบที่ธนาคารอื่นไม่กล้าขยับ

 

พรานฯ รู้จัก “บัณฑูร ล่ำซำ" มาตั้งแต่ปี 2535 และคุยกันมากขึ้นในห้วงเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเป็นห้วงที่ “บัณฑูร” ขึ้นเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย  ตลอดระยะเวลา “บัณฑูร”ถือเป็น “แบงเกอร์” ที่ผู้คนเชื่อถือและศรัทธามากๆ คนหนึ่ง

แม้ปัจจุบันพรานจะเจอะเจอหน้ากันน้อยลง แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อถือศรัทธาต่อกันยังเต็มเปี่ยม

บางคราว “บัณฑูร” ยังสละเวลานั่งรถยนต์ส่วนตัวมาเยี่ยมเยียน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้เกิดพลัง ชนิดสายฟ้าแล่บ

ล่าสุด “พราน-บัณฑูร-บก.วี” ได้พูดคุยหารือกันอย่างออกรดชาดในเช้าวันหนึ่งคุยกันเพลิน 2-3 ชั่วโมง

วันนั้น “บัณฑูร” บอกพรานฯว่า จะลาจาก ลาทีชีวิตนายธนาคารในไม่นานนี้แล้ว

พรานฯยังนึกว่าอีล้อเล่น ถามไถ่ไปดังๆว่า คุณปั้น ทำเป็นเล่นไป จะทิ้งกสิกรไทยไปไหนเล่า?

คุณปั้น-บัณฑูร..ตอบเสียงดังฟังชัดว่า ไปจริง จะไปเป็นเอ็นจีโอ....แล้วหัวเราะลงคอ หึหึ คึ คึ ตามสไตล์

 

พรานถามว่า เอาจริงรึ คุณปั้นบอกว่า เอาจริงนะ คุณต้องช่วยผม ผมจะไปทำหน้าที่ท่องโลก เพื่อพูดคุยกับบรรดามหาเศรษฐี และบรรดากองทุนที่มีเงินในโลก เพื่อชักจูงให้คนเหล่านั้นควักเงินทุนมาสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าจนเหี้ยนโล่งที่จังหวัดน่านให้ได้ จะทำให้น่านเป็นแซนด์บ๊อกในการแก้ปัญหาการบุกรุกป่า สร้างที่ทำกินให้เป็นรูปธรรม

 

“ผมเอาจริงนะ เพราะงบประมาณในปัจจุบันจะมาฟื้นฟูสร้างระบบนิเวศน์ป่ากับคนใหม่คงไม่สามารถแก้ปัญหาได่ ผมจะทำให้รัฐบาลเห็นเป็นตัวอย่าง”บัณฑูรว่าเข้าไปนั่น

 

พรานซักว่า แล้วจะไปหาเงินจากองทุนไหนเล่า ...คุณปั้นว่า ผมจะต้องแปลงจากจากแบงก์เกอร์มาเป็น “เอ็นจีโอ” ที่มีสไตล์ ผมจะต้องไปคุยกับกองทุนในโลกที่เข้าใจและมีเจตนารมย์เดียวกัน ถ้าได้มาสักก้อนรับรองน่านจะพลิกฟื้นให้เป็นตัวอย่าง

 

พรานยังแปลกใจที่บัณฑูรบอกว่า น่านแซนด์บ๊อกซ์จึงเป็นโครงการที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ของจังหวัดน่าน พร้อมกับสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้แก่ราษฎรที่บุกรุกที่ทำกินจนหัวโล้น

 

บัณฑูรบอกแผนในหัวว่า โจทย์แรกที่ทำคือ ทำให้ทุกคนมีที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้มีคำตอบแล้วว่ามีรูปแบบที่จะแก้ปัญหาได้โดยการทำการแบ่งสัดส่วนการจัดสรรที่ดินป่าสงวนฯของจังหวัดน่านออกเป็น 72% เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯในปัจจุบันที่ทุกคนต้องช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่ตลอดไป และอีก 28% จะกระจายอยู่ในทุกตำบล ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารยืนยันจากรัฐบาลว่า ประชาชนสามารถทำกินได้ตามกฎหมาย”

 

“จากนั้นจะแบ่งออกเป็น 18% เป็นพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านจะต้องร่วมมือฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ซึ่งภาครัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้ และ 10% เป็นพื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่ยังคงเป็นป่าสงวนฯ โดยกฎหมาย สิ่งสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการมีพื้นที่ทำกินคือคนในจังหวัดน่านต้องมีความสามารถในการทำกินบนพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเกษตรกรที่มีพืชเกษตรขายได้ในราคาดี และในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตมีความเจริญ”

 

ปี 2563 จะเป็นปีที่เรานำองค์ความรู้ทุกศาสตร์มาปรับเปลี่ยนวิธีทำกินให้เกษตรกร โดยจะผลักดันให้ปลูกพืชทางเลือก ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาระบบขนส่งและการจัดเก็บสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งสร้างยี่ห้อสินค้าน่านด้วย เพราะรายได้ต่อไร่ของเกษตรกรน่านจะต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน

 

น่านแซนด์บ๊อกซ์จะระดมองค์ความรู้จากทุกศาสตร์มาพัฒนาพืชทางเลือกที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง เพื่อผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต จนเกษตรกรสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง

 

น่านแซนด์บ๊อกจะต้องมีกองทุน เพราะเอางบประมาณของรัฐบาลมาใช้ก็จะล่าช้าทั้งในแง่ของการตั้งงบประมาณและขาดความคล่องตัว

 

 ทางออกดีที่สุดคือการหาเงินจากข้างนอก เงินบริจาคจากผู้ที่อยากจะช่วย แต่ที่สำคัญต้องเข้าในบัญชีของผู้ที่เป็นที่ไว้วางใจของทุกคน

 

นี่คือสิ่งที่เอ็นจีโอบัณฑูรกำลังทำ และเป็นปัจจัยหลักที่ลาออกมาสร้างอนุสารวีย์ในชีวิตแบบ คืนคุณแผ่นดิน!