มาตรการเด็ดขาดเท่านั้นหยุดยั้ง “มฤตยูโควิด”

05 เม.ย. 2563 | 03:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3563 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 5-8 เม.ย.2563 โดย... ว.เชิงดอย

+++ ยัง “น่าห่วง” สำหรับสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-16 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 (เวลาประเทศไทย) มียอดสะสมอยู่ที่ 934,668 ราย เสียชีวิต 47,181 ราย ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 104 ราย ยอดสะสม 1,875 ราย หายป่วยแล้ว 505 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมเป็น 15 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อใน กทม.และนนทบุรี มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดมีตัวเลขเพิ่มขึ้น

 

+++ มาตรการสกัดเชื้อโควิด-19 หากดำเนินมาตรการแบบ “หน่อมแน้ม” คง “เอาไม่อยู” เราถึงได้เห็นหลายประเด็นงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดขึ้นมาใช้ ล่าสุดที่ “ฟิลิปปินส์” แม้จะอยู่ในช่วงการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืน ทำให้ล่าสุดประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต เปิดไฟเขียวให้ตำรวจและทหารสามารถ “ยิง” ผู้ฝ่าฝืนที่สร้างปัญหาได้ หากเกิดการขัดแย้ง มีการต่อสู้ที่่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเสี่ยงอันตราย ก็สามารถยิงผู้ก่อปัญหาเสียชีวิตได้ และหากมีความวุ่นว่าย ไม่สามารถแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้ เพราะมีการฉกฉวยหรือดักชิง เขาก็ไม่ลังเลที่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงผู้ก่อเหตุได้ ทั้งยังเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่บังคับใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” อย่างเคร่งครัด พร้อมกับเตือนไม่ให้ประชาชนทำร้ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรการแพทย์เพราะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง หลังจากชุมชนแสดงท่าทีรังเกียจ เนื่องจากวิตกว่าบุคลากรเหล่านี้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

+++ กลับมาดูประเทศไทย นับแต่รัฐบาลประกาศ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อใช้มาตรการเข้มงวดป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย และแต่ละจังหวัดก็ได้ทยอยมาตรการต่าง ๆ ออกมา แต่ดูเหมือนจะ “เอาไม่อยู่” เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาล ต้องเพิ่ม “ยาแรง” ด้วยการประกาศ ข้อ 1 “เคอร์ฟิว” ทั่วราชอาณาจักร ห้ามประชาชนออกจากเคหะสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจําเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนําเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชน ไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทํางานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือการเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจําเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับ สินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 1) หรือเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจําเป็นอื่น ๆ โดยได้รับ อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

+++ 2.ในกรณีที่มีการประกาศหรือสัง ห้าม เตือนหรือแนะนําในลักษณะเดียวกับข้อ 1 วรรคหนึ่ง สําหรับจังหวัด พื้นที่หรือสถานที่ใดโดยกําหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดหรือเคร่งครัด กว่าข้อกําหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคําสั่งนั้นต่อไป และ ข้อ 3 ในกรณีที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใดซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอก ราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครจัดที่ เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและ ระยะเวลาที่กําหนดทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ประกาศ ณ วันที่ 2 เมษายน 2563

 

+++ ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า สาเหตุที่จำเป็นต้องประกาศ “เคอร์ฟิว” เนื่องจากพบว่ามีสถานบันเทิงบางแห่งยังแอบเปิดอยู่ และมีประชาชนบางส่วนยังแอบเที่ยวยามค่ำคืน หากดำเนินการตรงนี้จะช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อโรคได้   

 +++ หันไปมุมอื่น เดือนนี้เป็นเดือนเมษายน “วันโกหก” มีชื่อเรียกว่า วันเมษาหน้าโง่ หรือที่เรียกกันว่า April Fool’s day แต่ที่กำลังจะพูดถึงเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ภาพและบรรยากาศที่ผู้คนมากมายได้พบเห็นและกลายเป็นความประทับใจที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็คือ บรรดาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แอร์-สจ๊วต และนักบินของ “การบินไทย” ที่หยุดทำการบินในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ร่วมกันช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับผู้โดยสารจากทุกชาติ ที่ถูกเทจากสายการบินต่างๆ อย่างเต็มอกเต็มใจด้วยรอยยิ้มและไม่เห็นแก่การเหน็จเหนื่อย เป็นการทำงานที่มีการวางแผนร่วมกันกับพนักงานทุกคนของศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ (Thai Operations Control Center หรือ TOCC) ที่มีกัปตัน อนิรุต แสงฤทธิ์ ผอ.ใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานของศูนย์ ร่วมให้กำลังใจ ทำให้การประสานข้อมูลกันของพนักงาน ตลอดจนการทำเรื่องเอกสาร เพื่อส่งผู้โดยสารที่ตกค้างในประเทศไทย ให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย

 

+++ แว่วมาว่า ถาวร เสนเนียม รมช.คมมนาคม ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลหน่วยงานการบินไทย มักจะซุ่มเดินทางมาดูการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการแห่งนี้อยู่บ่อยๆ และประทับใจ เห็นถึงความฉับไวในการทำงานแบบมืออาชีพของผู้ปฏิบัติงานในศูนย์นี้ ขนาดเอ่ยปากและให้สัมภาษณ์ว่าจะผลักดันศูนย์ปฎิบัติการ TOCC นี้ ให้ได้บรรจุอยู่ในโครงสร้างของบริษัทอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป... ก็ต้องขอแสดงความยินดีต่อทุกคนในศูนย์นี้ที่เป็นหน้าเป็นตาตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการบินไทยอย่างแท้จริง!!