นโยบายหรู ช่วยตรู...ไม่ได้?

06 เม.ย. 2563 | 11:10 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3563 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-8 เม.ย.63 โดย... กระบี่เดียวดาย

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด-19 มีผู้ที่ติดเชื้อ1ล้านคนไปแล้วทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ในไทยเองยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากและการแพร่กระจายเชื้อ ยังไม่สามารถจำกัดวง ขีดวงเอายอดผู้ติดเชื้อลงให้ได้ สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกฝ่าย ทั้งในด้านการดูแลด้านสาธารณสุข ที่เกรงกันว่าจำนวนเตียงพยาบาลและเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ยา ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยและโดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติ ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดแยกพิเศษสำหรับผู้ป่วยโควิด ซึ่งทั้งประเทศมีแค่ 80 เครื่องเท่านั้น ขณะที่มีผู้ป่วยที่ประเมินว่าเข้าขั้นวิกฤติจำนวนนับพันราย

 

วินัย สำนึกและความร่วมมือของคนไทยทุกคนกับรัฐบาล ที่มีมาตรการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะคลี่คลายวิกฤติรอบ 100 ปีนี้ลงได้

 

นอกจากผลกระทบต่อชีวิต ที่ต้องสูญเสียแล้ว แต่ในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจเสียหายไปทุกองคาพยพ เสียหายไปก่อนใครเพื่อน คือ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยว สายการบิน กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรกๆ แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาเลย

 

“หลายที่เลิกจ้างงานชั่วคราว ลดเวลาทำงาน จากเต็มเดือนเหลือแค่ 5 วัน หลายที่ลดค่าจ้าง ตัดจนแทบไม่เหลือหลออะไรอีกแล้ว หลายคนเริ่มวิตกกังวล อาจจะไม่ตายด้วยโรคโควิด-19 แต่จะต้องตายลงไปด้วยการอดตาย”

ฝั่งนายจ้างเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่มีทางออกใด ๆ เลย อย่างกรณีโรงแรมจาก 100 ห้อง มีแขกมาเข้าพักแค่ 4 ห้องแล้วจะทำอย่างไรได้

 

ผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย บอกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รัฐบาล พยายามออกมาตรการในเรื่องสินเชื่อ พักหนี้เงินต้น พักดอกเบี้ย นั้นเป็นเพียงคำแถลงสวยหรูของนายธนาคารเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นจริง

 

“ผมทำเกสต์เฮาส์เล็ก ๆ กว่า 10 ห้องเจอโควิดเที่ยวนี้หนักมาก คุยกับเพื่อน ๆ ทำธุรกิจด้วยกันบอกเหนื่อยมาก เป็นหนี้แบงก์ไปคุยกับผู้จัดการสาขา เขาบอกว่าเป็นหนี้เสีย ต้องจ่ายให้หมดก่อน หรือไม่ให้ค้างเกิน 3 งวด จึงจะเข้าร่วมโครงการได้ ที่เขาจะปล่อยสินเชื่อออกมาได้” เสียงจากผู้ประกอบการเล็ก ๆ ชายฝั่งอันดามัน

 

อีกรายเจอรูปแบบเดียวกันกับรายแรก แบงก์บอกว่าต้องหาเงินมาจ่าย 3 หมื่นบาทก่อน จึงจะพักหนี้ได้ จึงควักเงินจ่ายให้ไปทันที วันถัดมาธนาคารแจ้งให้ไปเซ็นสัญญา กลับบอกว่า เคสของคุณลูกค้าไม่แน่ใจว่าจะได้ไหม เพราะหนี้เอ็นพีแอล ต้องส่งเรื่องไปให้ข้างบนให้ความเห็นชอบ

 

“อ้าว แล้วให้เราจ่าย 3 หมื่นทำไม ถ้าไม่ได้ ก็บอกมา ตอนนี้ไม่มีเงินเลยนี่กว่าจะหามาได้ ถ้ารู้อย่างนี้ไม่จ่ายหรอก เพราะต้องเก็บเงินส่วนนี้ไว้ใช้ ไม่รู้ว่าสถานการณ์ จะยาวนานเท่าไร”

 

เจ้าหน้าที่แบงก์แต่ละแห่งจะชี้แจงกับลูกค้าคล้าย ๆ กัน โดยให้หาเงินมาปิดยอดหนี้คงค้างให้ได้ก่อน ทั้งยอดหนี้เงินต้น ยอดดอกเบี้ย ยอดเงินประกัน ไม่มีทางออกให้ลูกค้าเลยทั้งที่ทางการได้ให้นโยบายมาแล้วในการช่วยเหลือฟื้นฟู

 

“กระทรวงการคลัง ธปท. สั่งไม่ได้จริง ผู้บริหารแต่ละแห่งออกมาแถลงข่าวหน้าระรื่น แต่ทำไม่ได้จริง ขอท้าให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเลย ลองตรวจสอบลูกหนี้แต่ละแบงก์ดูได้เลย​ ลูกหนี้กี่ราย​ วงเงินกู้เท่าไร​ ได้รับการช่วยเหลือกี่ราย​ เป็นเงินเท่าไร นโยบายหรู ช่วยตรูไม่ได้” เจ้าของเรือเล็ก ๆ ที่ให้บริการเรือนักท่องเที่ยวชมเกาะต่าง ๆ ที่ใกล้ ๆ กันในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง จ.กระบี่แสดงอาการโกรธเคือง

รัฐบาล ธปท.และนายธนาคารทั้งหลาย คงต้องหันกลับมาทบทวนย้อนคิด ถ้าปัญหาติดที่กฎระเบียบของธปท.ก็ต้องคิด ต้องแก้

บรรดาเจ้าสัวธนาคารก็ต้องหันมาคิดให้จงหนัก ต้องยอมหั่นผลประกอบการ ลดกำไรของตัวเองลงมาบ้าง หลังจากแสวงหากำไรสะสมมานาน อู่ฟู้ทำนาบนหลังคนมานาน

 

สถานการณ์แบบนี้ต้องช่วยคิด ช่วยแก้ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกันแล้ว ต้องเลิกประเภทฟันกันลูกเดียวได้แล้ว

แบงก์จะอยู่อย่างไร เดินไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าทุกคนเจ๊งกันหมด

          มีประโยชน์อะไร... ที่จะทำธุรกิจบนซากปรักหักพัง