ถูกปลอมลายมือชื่อ ให้เป็นกรรมการบริษัท!

05 เม.ย. 2563 | 03:21 น.

คอลัมน์ อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563

 

อยู่ดีดี...ก็มีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท คงไม่สนุกเป็นแน่...

เพราะท่านย่อมมี หน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะดังกล่าว เช่นคดีที่จะคุยกันกับท่านผู้ติดตามคอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจวันนี้ กรณีผู้ถูกปลอมลายมือชื่อให้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว เนื่องจากถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีฐานร่วมกันทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (เตารีดไฟฟ้าและกระทะไฟฟ้า) โดยไม่ได้รับอนุญาต มาฟังเรื่องราวของคดีกันครับ คดีนี้ บริษัท เอ จำกัด โดยนางสาวสวย กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทได้มอบอำนาจให้นายสมชาย เป็นผู้มายื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท โดยให้กรรมการออกหนึ่งคน คือ นางสาวสวย และกรรมการเข้าหนึ่งคน คือ นายธงชัย รวมทั้งเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจากนางสาวสวย มาเป็นนายธงชัย และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดก็ได้รับจดทะเบียนดังกล่าวให้

ถูกปลอมลายมือชื่อ  ให้เป็นกรรมการบริษัท!

 

ต่อมาหลายปี...นายธงชัยทราบเรื่องจึงได้มีหนังสือร้องขอต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทดังกล่าว โดยอ้างว่าได้มีผู้ปลอมลายมือชื่อของตนและทำให้ตนต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานร่วมกันทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

แต่นายทะเบียนฯ มีคำสั่งปฏิเสธการเพิกถอน นายธงชัยอุทธรณ์คำสั่งแต่ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจการค้าภูมิภาคยกอุทธรณ์ นายธงชัยจึงฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้อำนวยการสำนักธุรกิจการค้าภูมิภาค (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนและเพิกถอนคำสั่งที่ปฏิเสธไม่เพิกถอนชื่อผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นกรรมการบริษัท เอ จำกัด และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

 

คดีจึงมีประเด็นปัญหาที่น่าสนใจว่า การที่นายทะเบียนมีคำสั่งปฏิเสธไม่เพิกถอนชื่อ ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นกรรมการบริษัทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจของกรรมการบริษัท เอ จำกัด จะดำเนินการโดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนไว้เดิม โดยมีคำขอและเอกสารประกอบคำขอครบถ้วนและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้รับจดทะเบียนแล้วก็ตาม

 

แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่า ในการยื่นคำขอจดทะเบียนดังกล่าวมีการปลอมลายมือชื่อผู้ฟ้องคดีในคำขอจดทะเบียนและนำไปยื่นขอจดทะเบียน โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รู้เห็นยินยอมหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง ย่อมเป็นกรณีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการขอจดทะเบียนไม่ถูกต้องมาแต่แรก อันจะทำให้คำสั่งรับจดทะเบียนให้ผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้อำนวยการสำนักธุรกิจการค้าภูมิภาค มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ (ตามมาตรา 49 มาตรา 50 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง .. 2539 ประกอบข้อ 12 ของระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท .. 2554)

 

เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีส่งให้แก่นายทะเบียนฯ พิจารณาประกอบคำขอ อันได้แก่ หนังสือสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัท ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการหรือการบริหารงานใดๆ และสำเนารายงานผลการตรวจพิสูจน์เอกสารของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว เป็นเอกสารของหน่วยงานราชการที่ย่อมมีความน่าเชื่อถือและสามารถรับฟังได้

การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทปฏิเสธไม่เพิกถอนชื่อผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นกรรมการบริษัท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีลักษณะสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธไม่เพิกถอนชื่อผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและเพิกถอนคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ . 814/2562)

 

จากคำพิพากษาดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดี กรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งเมื่อปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนโดยเฉพาะเอกสารของทางราชการที่ย่อมเชื่อถือได้ว่ามีการปลอมแปลงลายมือชื่อในเอกสารที่จดทะเบียน เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ หากข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนเพียงพอเจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาออกคำสั่งตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้อีกด้วย

 

 (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)