ยุทธศาสตร์‘ปิดหมู่บ้าน’ เผด็จศึกโควิด-19

01 เม.ย. 2563 | 06:52 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3562 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.63

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ 127 ราย ผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,651 ราย เสียชีวิต 10 คน

ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไทยยังอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ869 คน ถัดมาคือภาคใต้ 206 คน ภาคกลาง 172 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 77 คน และภาคเหนือ 55 คน

นับแต่ยกระดับมาตรการจากคัดกรองมาเป็นปิดห้าง-สถานบันเทิง แหล่งชุมนุมคนจำนวนมาก จนถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบบสาธารณสุขไทยเราทำได้ดีพอสมควร คือสามารถตรึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 100 คนเศษหรือต่ำกว่า จากเดิมที่เริ่มวิ่งทะยานในอัตราเร่ง

แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการแพร่ระบาดได้กระจายตัวจากศูนย์กลาง คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวหลักไปทั่วเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขบริหารสถานการณ์เชิงพื้นที่ จุดไหนมีสัญญาณการแพร่เชื้อสูงก็ยกระดับมาตรการมากขึ้น อาทิ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจังหวัดภูเก็ต ตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดประกาศปิดพื้นที่ ห้ามเข้า-ออกยาวถึงวันที่ 30 เมษายน และยุติการเดินรถโดยสารระหว่างพื้นที่ลดการสัญจร

เช่นกันสัญญาณล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ก็ดังกระหึ่ม เมื่อศบค.วิเคราะห์ว่ามาตรการที่ออกมาทำให้การสัญจรลดลงได้แค่ 40% หากจะควบคุมการระบาดให้ได้ผลต้องลดลงให้ได้ 95%

จุดชี้ขาดของการต่อสู้เชื้อโควิด-19 คือห้วงเดือนเมษายน โดยจุดเปลี่ยนอยู่ที่การเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 13-15 เมษายนที่จะถึงนี้ แม้ทางการจะประกาศให้เป็นวันทำงานปกติ แต่มาตรการปิดสถานที่ ทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงเป็นลำดับ บางส่วนยังอาจตัดสินใจกลับบ้าน เพิ่มโอกาสนำเชื้อไปแพร่กระจายอีกรอบ

 

การสยบเชื้อโควิด-19 คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน หากทุกชุมชนตำบลหมู่บ้านประกาศปิดพื้นที่ ส่งสัญญาณชัดห้ามคนเข้าออก แม้กระทั่งสมาชิกชุมชนที่อยู่นอกพื้นที่ ควบคู่กับการปิดล็อกพื้นที่เมืองใหญ่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง จะมีผลอย่างสำคัญในการสกัดคนให้อยู่กับที่ เพื่อให้โรคติดเชื้อนี้ปรากฏตัวจะได้นำตัวไปรักษาควบคุมการแพร่เชื้อได้แต่ต้นมือ