COVID-19 ทูตสันติภาพ (ชั่วคราว?)

01 เม.ย. 2563 | 04:30 น.

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563

 

ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์การประมาณการผลกระทบของ COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ครั้งก่อนที่เขียนบทความ ได้กล่าวถึงประเทศจีนซึ่งเป็นจุดเชื่อมของห่วงโซ่การผลิตนานาชาติ เมื่อจุดเชื่อมขาดจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศคู่ค้าอย่างไรบ้าง

 

วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค จำนวนคนติดเชื้อโรคมีสหรัฐอเมริกา มาเป็นลำดับที่ 1 และอัตราการเสียชีวิตมีอิตาลีเป็นลำดับแรก ข้อเรียกร้องของทุกรัฐบาลต่อประชาชนคือ ให้รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ social distancing และมีการประกาศมาตรการฉุกเฉิน ปิดเมืองและปิดประเทศ

 

ในมิติของผลต่อการค้าระหว่างประเทศ เมื่อต้นเดือนมีนาคม UNCTAD ได้มีการประเมินผลกระทบของ COVID-19 ผ่านห่วงโซ่การผลิตนานาชาติที่จีนเป็นข้อกลางไว้อย่างน่าสนใจ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดคือ สหภาพยุโรป ซึ่งมีมูลค่า 15.5
พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ได้รับผลกระทบ 5.7 5.2 3.8 2.3 2.1 และ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ และยังมีสมาชิกอาเซียนกล่าวคือ มาเลเซีย ไทย และ อินโดนีเซีย ที่ติดอยู่ใน 15 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบทางการค้าดังกล่าว ข้อสังเกตต่อมาคือ จีนมีความผูกพันทางการค้ากับชาติสมาชิก RCEP สูงมาก

 

รายงานล่าสุดของ UNCTAD เรื่องผลกระทบของ COVID-19 ต่อการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศจากบริษัทข้ามชาติจะลดลงระหว่าง 30-40% ในปี 2563-2564 ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่การผลิตที่ชะลอตัวลงจากข้อกลางของห่วงโซ่การผลิตที่หยุดทำงาน แต่ยังถูกซํ้าเติม โดยอุปสงค์ของโลกที่ลดลง

 

COVID-19 ทูตสันติภาพ (ชั่วคราว?)

 

อุตสาหกรรมที่ได้รับผล กระทบทางลบต่อรายได้สูง ได้แก่ พลังงาน การบิน ยานยนต์และ ชิ้นส่วน และโรงแรมและร้านอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบลบน้อยมากคือ การส่งเสริมและดูแลสุขภาพ เทคโนโลยี และการให้บริการการสื่อสาร

 

ในการปรับตัวเลขผลกระทบครั้งล่าสุดในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทข้ามชาติ Top 5000 ที่ทำธุรกิจใน ประเทศพัฒนาแล้วจะลดลงโดยเฉลี่ย 35% และในประเทศกำลังพัฒนาลดลง 20% ที่น่าจับตามองคือสิงคโปร์ เกาหลี ไทย และมาเลเซีย คาดว่าจะลดลง 30 29 28 และ 26% ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำรายได้กลับมาเป็นรายจ่ายในการลงทุน (share of reinvested earnings in FDI) ในกรณีนี้สัดส่วนของการนำรายได้กลับมาลงทุนสูงถึง 72% ในประเทศไทย ซึ่งกล่าวได้ว่าสูงที่สุดในการศึกษาของ UNCTAD

 

แม้ว่าในปัจจุบันบทบาทขององค์การการค้าโลกถูกทำให้ด้อยไปมาก จากเหตุของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากร แต่ COVID-19 กำลังจะกลายเป็นทูตสันถวไมตรีที่ทำให้ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่หันหน้ามาคุยกัน ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาของโลก บทบาทของการเป็นผู้นำโลกจะเปลี่ยนไปในทางสันติภาพมากขึ้น และจีนนั้นเก่งกว่าสหรัฐอเมริกามากในวันนี้


 

องค์การการค้าโลกมีกฎระเบียบทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสนับสนุนให้มีการเปิดเสรี การให้บริการและการค้าสินค้าสุขภาพ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถจะพึ่งพาตัวเองด้วยสินค้าเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ทำให้ต้องมีการทั้งส่งออกและนำเข้าถึงกระนั้นก็ยังมีมาตรการที่เกี่ยว ข้องกับการห้ามนำเข้าและการห้ามส่งออก การกำหนดปริมาณนำเข้าและการส่งออก การออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าและส่งออกสินค้ามาตรการสุขอนามัยของคน พืช และสัตว์ (Sanitary and Phytosanitary Measure) เพื่อดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตทั้ง 3 ประเภท มาตร การอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (Technical Barrier to Trade) ที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบทางเทคนิค มาตรฐาน และกระบวนการตรวจสอบสินค้า

 

และที่สำคัญที่สุดในยุคนี้คือ มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา คือการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วยสิทธิบัตรของยา แต่สามารถที่จะก้าวข้ามได้โดยมาตรการที่เรียกว่า Compulsory Licensing ที่มีอำนาจเหนือสิทธิบัตร ทำให้สามารถผลิตยาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ และเป็นมาตรการที่สำคัญในช่วงที่เกิดภาวะโรคระบาดไปทั่ว โลก เกี่ยวกับ COVID-19 โดยตรงในอนาคต

 

องค์การการค้าโลก จัดทำรายงานวันที่ 26 มีนาคม เรื่องมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และประเทศสมาชิกได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงมาตรการและรายละเอียดไว้ อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา จีน โคลัมเบีย สหภาพยุโรป อินเดีย ปารากวัย และสวิตเซอร์แลนด์ ปรับนโยบายชั่วคราวในช่วงสั้น ได้แก่ การปรับขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์แพทย์และเวชภัณฑ์ การยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าในบางรายการสินค้าเวชภัณฑ์ การยกเลิกชั่วคราวการเก็บภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด การยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรขาเข้าสำหรับเครื่องมือปกป้องส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE)

ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็มีการใช้มาตรการที่ควบคุมการส่งออก เช่น สวิตเซอร์แลนด์มีมาตรการควบคุมการส่งออกของPPE อินเดียมีนโยบายควบคุมการส่งออกของหน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ใช้ทำหน้ากาก เป็นต้น

 

จีนก็ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติม 10% ที่เคยประกาศใช้กับสหรัฐอเมริกาในบางรายการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปการณ์การแพทย์ และยังลดภาษีจากสินค้าปศุสัตว์ และสินค้าเกษตร สหภาพยุโรปได้มีการนำช่องทางสีเขียวมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วยกันให้มากยิ่งขึ้น

 

COVID-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ประชาชนในโลกจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้นในสังคมที่ความแออัด การใส่หน้ากากเพื่อปกป้องตัวเองจะกลายเป็นเรื่องสามัญ ความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีการสอดประสานกันมากขึ้น เห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ความขัดแย้งที่ลดลงครั้งนี้อาจจะต้องขอบคุณธรรมชาติที่เข้ามาช่วยจัดการ