ถอดบทเรียน โควิด-19 การเรียนลัดจากจีน

01 เม.ย. 2563 | 04:40 น.

นับแต่ปีชวดเริ่มขึ้น พี่น้องคนไทยเรามีแต่ปัญหาและเรื่องตื่นเต้นเข้ามาไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ ทั้งที่ทำตัวเองบ้าง และกระทบจากภายนอกบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว วิกฤติศรัทธาวงการทหาร...ยิ่งพอใกล้เทศกาลสงกรานต์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยกระดับเป็นวิกฤติอย่างเต็มรูป และมาแรงแซงทางโค้งปัญหาอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

 

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สร้างผลกระทบรุนแรงในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สารพัดคลื่นปัญหาถาโถมใส่ชายฝั่งไทยดั่งพายุกระสุน ทุกตลาดปั่นป่วนยุบตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

หลายสิบประเทศประกาศปิดพรมแดนทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศขาดสะบั้น ผู้คนลดการเดินทางใกล้ไกล กิจการห้างร้านถูกสั่งปิด แหล่งท่องเที่ยวกลายเป็นเมืองร้าง งานแสดงสินค้าถูกยกเลิกไป

 

ขณะที่งานเทศกาลและการแข่งขันกีฬาต่างต้องเลื่อนหรือยกเลิกการจัดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยเกือบทั้งหมดหยุดลง ทำเอาเศรษฐกิจระดับมหภาคดิ่งหัว

 

อุปสงค์ที่ลดลงทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งลง ธุรกิจจำนวนมากปิดตัวลง และก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานชั่วคราวใหญ่สุดในยุคหลังสงครามโลก

 

จนถึงปัจจุบัน โควิด-19 ได้กลืนกินความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของหลายประเทศไปอย่างน้อย 10 ปี และอาจนำพาโลกไปสู่การตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกของช่วงชีวิตคนในยุคนี้

 

นอกจากคลื่นปัญหาที่ถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างไม่มีเวลาตั้งตัว เมื่อผนวกกับระบบการบริหารจัดการที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลเข้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผมอดห่วงไม่ได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยกำลังเดินเข้าใกล้ขั้นวิกฤติ และอาจเข้าสู่การหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้

 

ผมคิดว่าท่านผู้อ่านยอมรับว่า จีนแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ได้อย่างเฉียบขาดและมีประสิทธิภาพยิ่ง จีนสามารถทำสิ่งที่ยากให้ดูเหมือนง่ายได้อย่างน่าชื่นชม

 

จีนเลือกใช้หลากหลายรูปแบบ มาตรการ และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ในการฟันฝ่าวิกฤตินี้ ขณะที่ทุกภาคส่วนของจีนจับมือกันแน่นเพื่อก้าวผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ซึมเศร้าไปอย่างมุ่งมั่นและอดทน ความสำเร็จดังกล่าวทำให้จีนเป็นต้นแบบที่ดีแก่ไทยและอีกหลายประเทศในโลกได้

 

อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่แน่ใจว่า เราจะใช้จีนเป็นกรณีศึกษาในการฝ่าวิกฤติไวรัสนี้ได้ดีมากน้อยเพียงใด เพราะสภาพปัจจัยแวดล้อมของไทยและจีนมีความแตกต่างในหลายด้าน

 

จีนมีระบบการจัดการที่ดี เข้มแข็ง และจริงจัง รัฐบาลจีนสื่อสารโดยใช้หลัก “พูดน้อย ต่อยหนัก” การสื่อสารมีความชัดเจน และกำหนดสื่อของรัฐที่ประชาชนควรติดตาม ทำให้ไม่เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

 

ดังเช่นที่เห็นในกรณีการแจกเงินรอบใหม่ของรัฐบาลเพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ภาพผู้คนนับร้อยที่ยืนต่อคิวชิดกันชนิดหายใจรดต้นคอเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร หรือ สถานการณ์เว็บล่มตั้งแต่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนไม่กี่นาที ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำ

 

ที่เมืองจีน ผมไม่เห็นการเอาไมค์จ่อขอสัมภาษณ์ผู้นำ รัฐมนตรี หรือข้าราชการระดับสูงของจีนแบบรายวัน ขณะที่บ้านเรากลับมีกรณี “หลุด” จากการให้สัมภาษณ์อยู่แทบทุกสัปดาห์

 

ภาคเอกชนและประชาชนจีนมีระดับความเชื่อมั่นในรัฐบาลและผู้นำสูงมาก แถมยังให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำแนะนำของภาครัฐ ส่งผลให้ปัญหาไม่ขยายวงและช่วยให้วิกฤติคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว

 

ขณะที่คนไทยในปัจจุบันมีความคิดที่แตกแยกในเกือบทุกเรื่อง รัฐบาลและคนบางส่วนมีความคิดไปทางหนึ่ง ฝ่ายค้านและคนอีกส่วนหนึ่งก็จะไปทางตรงข้าม โดยไม่ต้องคิดว่ามาตรการเหล่านั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

 

คนไทยยังมีความรักในอิสระและเสรีภาพค่อนข้างสูง โดยมีลักษณะพิเศษที่ต้องการรักษาและเรียกร้องสิทธิของตนเอง แต่ขาดวินัย การให้คนไทยร่วมมือในเรื่องใดๆ ในยามวิกฤติโควิด-19 เคาะประตูบ้านอยู่เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง

 

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเด็ดขาดของรัฐบาลจีน เราไม่เห็นผู้ประกอบการหรือร้านค้าในจีนจำหน่ายหน้ากากอนามัยหรือไข่ไก่เกินราคา ขณะที่บ้านเรากลับมีกลุ่มบุคคลที่ฉวยโอกาสกักตุนและจำหน่ายหน้ากาก ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างเกลื่อนกลาดในราคาสูงลิ่ว โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของพี่น้องร่วมชาติ

 

ถอดบทเรียน โควิด-19  การเรียนลัดจากจีน

ผมเห็นภาพพี่น้องคนไทยที่เสียเวลา 2-3 ชั่วโมงไปยืนต่อคิวซื้อหน้ากาก ไข่ไก่ หรืออาหารอื่นโดยไม่มีการรักษาระยะห่างตั้งแต่ยังไม่รุ่งสางจนไม่เป็นอันทำอะไรแล้วก็อดสงสารไม่ได้ ผมไม่กล้านึกเลยว่า เศรษฐกิจไทยหายวับไปกับเวลาที่สูญเปล่าไปมากน้อยขนาดไหน

 

ผมชอบวิธีการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยของรัฐบาลจีน จีนเร่งขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการผลิตของโรงงานเดิม และสร้างโรงงานใหม่ รวมทั้งยังปรับเปลี่ยนโรงงานผลิตสินค้าอื่น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า มาผลิตหน้ากากได้อย่างรวดเร็ว

 

ประการสำคัญ รัฐบาลจีนประกาศรับซื้อหน้ากากทั้งหมดในราคายุติธรรมจากโรงงานเหล่านี้และกระจายไปยังผู้ใช้และผู้บริโภคปลายทางได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม

จีนใช้เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนและสถานีบริการน้ำมัน และเสริมด้วยนวัตกรรมเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ที่สแกนบัตรประชาชนและอี-เพย์เมนต์ เข้ามาช่วยกระจายและลดปัญหาความกระจุกตัวของสินค้า ทำให้รัฐบาลจีนสามารถกำหนดให้ทุกคนต้องใส่หน้ากากเวลาออกนอกบ้านได้ ซึ่งช่วยให้จีนสามารถลดโอกาสการติดเชื้อใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จีนเคยมีปัญหาหนักๆ มากมายในอดีต แต่รัฐบาลก็เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่องให้ลดน้อยลงอย่างจริงจังและสร้างสรรค์ ด้วยประสบการณ์และความมุ่งมั่นในการเอาชนะปัญหาดังกล่าวทำให้สามารถจัดการกับวิกฤติในครั้งนี้ได้อย่างดียิ่ง

 

ขณะที่จีนเป็นนักแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาสที่เก่งกาจ แต่ไทยเรากลับวนเวียนกับปัญหาเดิมๆ ทำให้การแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติดูจะยากและใช้เวลายาวนานกว่าปกติ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเป็นวงกว้างมากขึ้น

 

หากเราไม่สามารถเรียนลัดและปรับสไตล์การบริหารงานให้เข้ากับยามวิกฤติเช่นนี้ ก็ดูเหมือนว่าคำเตือนเรื่อง “การเผาจริง” ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้กำลังจะไม่ใช่ “ข่าวลวง” ซะแล้ว

 

คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน