พ.ร.ก.ปราบโควิด เดิมพัน “บิ๊กตู่”

28 มี.ค. 2563 | 11:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3561 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย.63 โดย... ว.เชิงดอย

 

        ... สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ข้อมูล ณ เช้าวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้แพร่เชื้อไปแล้วถึง 198 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 468,577 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 21,185 ราย รักษาหาย 113,817 รายส่วนประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขแถลง ณ วันที่ 26 มีนาคม ว่า พบผู้ป่วยเพิ่ม 111 ราย รวมยอดสะสมพุ่งเป็น 1,045 ราย พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อรวม 9 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตคงที่ 4 ราย

        ... นพ.อนุพงศ์ สุจริตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลว่า สำหรับผู้ป่วยใหม่ 111 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 29 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 6 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 3 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 19 ราย และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 1 ราย, กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 19 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 6 ราย แบ่งเป็นคนไทย 5 ราย และชาวอเมริกัน 1 ราย, กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 9 ราย ทั้งที่ทำงานในสถานบันเทิง ขับรถสาธารณะ พนักงานโรงแรม ร้านนวด, บุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย และผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ 1 ราย

 

        ... กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค 63 ราย ส่วนที่อาการหนัก 4 ราย ทุกรายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ที่พบมีทั้งหมด 9 ราย ส่วนใหญ่มาจากการที่คนไข้ปกปิดข้อมูล เนื่องจากอาการที่มาพบแพทย์ แรกเริ่มมีอาการคล้ายกับไข้เลือดออกและใส่เครื่องป้องกันไม่ดีพอ

        ... แรกๆ สถิติการแพร่ระบาดในประเทศไทยไม่มากมายนัก แต่มาหลังๆ พบแต่ละวันติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยๆ คน สถิติการแพร่ระบาดของไทยเพิ่มผู้ติดเชื้อในอัตราสูงขึ้นกว่า 30% ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี เยอรมนี และเกาหลีใต้ ที่ล้วนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการแพร่กระจายในอัตราส่วนดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาอย่างมากต่อไทยในการรับมือ เพราะอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตินี้ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ “รัฐบาลลุงตู่” ต้องประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อให้มีอำนาจในการจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

        ... พร้อมทั้งมีการตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” หรือ ศบค. ขึ้นมา โดย มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ขณะเดียวกัน มีการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย จำนวน 40 ฉบับ ให้มาเป็นอำนาจหน้าที่ของ “นายกรัฐมนตรี” เป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน... เรียกได้ว่า “ยึดอำนาจ” ของรัฐมนตรีมาสั่งการเอง คงหวังผลเพื่อให้การสั่งการเป็นไปในทิศทางเดียว ไม่เกิดปัญหา “ขัดแย้ง” ระหว่างรัฐมนตรี หรือ “พรรคการเมือง”

 

        ... นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษก ศบค. ระบุภายหลังการประชุมที่มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ว่า ที่ประชุมไม่ได้พิจารณาออกข้อกำหนดเพิ่มเติมแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องการออกข้อกำหนด “เคอร์ฟิว” หรือห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด แต่แนวทางต่างๆ มีการเสนอมาหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกจากมาตรการเบาไปหาหนัก ถ้าประชาชนร่วมมือก็ไม่ต้องใช้กฎอะไรมาบังคับ

        ... ส่วน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) ในฐานะหัวหน้าทีมรับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงฯ ให้ข้อมูลว่า ได้มีการตั้งจุดตรวจ ตรวจเข้มข้นคนที่เข้าออกทั้งหมด 359 แห่งทั่วประเทศ อยู่ในกทม. 7 แห่ง จึงขอประชาชนอย่าวิตกและใช้ชีวิตตามปกติและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อใช้มาตรการดังกล่าวนี้แล้วสถานการณ์แพร่ระบาด และตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง จะมีมาตรการที่เข้มข้นมาบังคับใช้ก่อนล็อกดาวน์ “ปิดประเทศ” เพื่อสกัดและป้องกันการติดเชื้อในประเทศ แต่ก่อนจะถึงมาตรการเข้มข้นนั้น อยากให้ประชาชนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เข้าใกล้หรือไปรวมกลุ่มกัน

        ... “ยาแรง” ที่ “รัฐบาลลุงตู่” ประกาศออกมา ถือเป็น “เจตนาดี” ที่จะยับยั้ง “เชื้อโรคร้าย” คืนความปลอดภัยให้กับประชาชนที่อยู่ประเทศไทยทุกคน แต่หัวใจสำคัญคือ “คนไทย” ก็ต้องให้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐบาลขอร้องด้วย...ภาวการณ์ปัจจุบันนี้ประชาชนและรัฐบาลเปรียบเสมือน “อยู่บนเรือลำเดียวกัน” หากรัฐบาลสามารถนำพาเรือลำนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤติ “ไวรัสโควิด-19” ไปได้ แม้อนาคตจะมีวิกฤติเศรษฐกิจตามมา ก็เชื่อว่าประชาชนจะให้ความ “ศรัทธา” ในการบริหารบ้านเมืองต่อไปได้ แต่หาก “รัฐบาลลุงตู่” ล้มเหลวในการจัดการวิกฤติครั้งนี้ แล้วจะยังคงเป็น “รัฐบาล” อยู่ต่อไปได้อีกหรือ? นี่คือคำถาม...