เศรษฐกิจพอเพียง พลิกวิกฤติโควิด-19

28 มี.ค. 2563 | 11:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3561 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย.63

 

 

          27 มีนาคม ที่ผ่านมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานด้านตลาดเงินและตลาดทุน โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.วิรไท สันติประภพ

          ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งสมาคมธนาคารไทย และธนาคารกรุงไทย เข้าร่วมประชุม

          การประชุมครั้งนี้ได้หารือกันถึงการอัดฉีดมาตรการชุดใหญ่ ระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ซึ่งมีการประเมินกันว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ผลกระทบจะรุนแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2540 สะท้อนจากการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ของธปท.จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ลงมาเป็นติดลบรุนแรงถึง -5.3% นับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่ปี 2541

 

          ดร.สมคิด ยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ตอนนั้นคนมีเงินเจ็บตัว คนจนไม่เจ็บตัว เพราะประเทศไทยยังมีภาคเกษตรและท้องถิ่นเป็นหลังพิง แต่ครั้งนี้ทั้งคนจนและคนรวยเจ็บตัวกันหมด ดังนั้น การออกมาตรการต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จึงต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น โดยจะมีการพลิกวิกฤติมาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น ด้วยการน้อมนำโครงการที่เกี่ยวข้องกับแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ

          มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 ที่จะออกมา เบื้องต้นจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยทำให้เกิดการจ้างงาน เพื่อทำให้เกิดรายได้ เพื่อประคับ ประคองเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ในภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดนิ่ง โดยดร.สมคิด ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการออกพระราชกำหนดกู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาท

          เราเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะออกพ.ร.ก.กู้เงินมาใช้สำหรับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และนำไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น ด้วยการน้อมนำโครงการที่เกี่ยวข้องกับแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพราะนอกจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่เม็ดเงินที่ลงไปต้องสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นให้มีการผลิต การจ้างงาน การตลาด อย่างแท้จริง