‘กองทุนรวม’ ถูกถล่มดะ เพี้ยง! หุ้นกู้อย่าชักดาบ

29 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3561 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.- 1 เม.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          ใครจะคาดคิดว่า มาตรการของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย-ก.ล.ต.-กระทรวงการคลัง-สมาคมธนาคารไทย-สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม” เพื่อเข้าไปช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนรวมตราสารหนี้ ของ บลจ.ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไปเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนด้วยการขายลดในบางกองทุน จนส่งผลให้กองทุนต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีออกมา ทำให้มูลค่าของหน่วยลงทุนลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาจะไม่สามารถหยุดความตื่นตระหนกได้

          วันอาทิตย์นั้นถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านต่าง “งงงวย” เพราะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ประกาศของรัฐออกมาตรการด้านการเงินในวันหยุด 3 ด้าน เพื่อสกัดการขายทิ้งหน่วยลงทุน

          มาตรการแรก จัดตั้งกองทุนพิเศษ 1 ล้านล้านบาท เป็นกลไกพิเศษ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท.ได้

 

          มาตรการที่ 2 สมาคมธนาคารพาณิชย์ สมาคมธุรกิจประกันภัย ธนาคารออมสิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ร่วมกันจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่อง” ขึ้นมาวงเงิน 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการต่ออายุตราสารหนี้ หากขายไม่หมดกองทุนนี้จะเข้าไปซื้อไว้มีเวลากำหนด 270 วัน

          มาตรการที่ 3 แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลดอกเบี้ยตลาดบอนด์ไม่ให้ผันผวน

          ทั้ง 3 มาตรการล้วนแล้วแต่เป็นการเข้าไปดูแลไม่ให้ระบบการกู้เงินของภาคเอกชน การระดมเงินเพื่อนำมาลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ กองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนจากประชาชนเกิดการ “รัน”

          “รัน” ในความหมายนี้หมายถึงBank Run” ซึ่งเป็นการเรียกสถานการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากแห่เข้าไปถอนเงินที่ธนาคารที่ตัวเองได้ฝากเงินเอาไว้ เอาเงินกลับมาเก็บไว้ที่ตัวเอง จนธนาคารรับภาระไม่ไหว ไม่มีเงินสดจะจ่ายคืนผู้ฝากเงิน

          แต่ไม่น่าเชื่อเพียง 4 วันผ่านไปหลังประกาศมาตรการ ปรากฏว่ากองทุนรวม ตราสารหนี้ที่ออกโดย บลจ.ในประเทศไทยแทบทุกกองถูกเทขายวินาศสันตะโร แม้จะไม่มีใครออกมาพูด

          เป็นการขายหลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 10 ปี พุ่งขึ้นแบบพรวดพราดจาก 0.75-0.8% มายืนยิ้มเผล่ที่ระดับ 1.8-1.9% ให้เจ็บปวดใจว่า หลังจากนี้ไปต้นทุนการกู้ยืมจะมีมากขึ้นเพราะความเสี่ยงของประเทศจะเพิ่มขึ้น

          เฉพาะ บลจ.ทหารไทยฯ (TMBAM Eastspring) มี 2 กอง คือ กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศสูง ไม่เกิน 79% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมีขนาดสินทรัพย์ที่บริหารอยู่ในตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้รวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาท เกิดการ “รัน” อย่างหนักหน่วง

          นักลงทุน ผู้ถือหน่วย รวมพลังกันขายหน่วยลงทุนแบบไม่สนใจราคา เรียกว่าทิ้งกันระเนระนาดกว่า 50-75% ของจำนวนหน่วยลงทุนที่นำออกขายทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 9-25 มีนาคม 2563

          เทขายขนาดที่ว่า บลจ.ทหารไทย อีสท์สปริงฯ ต้องออกประกาศ “ไม่รับซื้อ ไม่รับขาย ไม่รับสับเปลี่ยน หน่วยลงทุนตามคำสั่งซื้อ คำสั่งขายคืน คำสั่งสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนที่ได้รับไว้สำหรับธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2563”

 

          แปลความตามท้องเรื่องว่า บลจ.ทหารไทยฯ ชักดาบออกมา ปิดกองทุน 2 กองทุน หลังถูก “ขายลด” ผ่านกระบวนการขอไถ่ถอนของผู้ถือหน่วยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเกินกว่าจะรับไหว

          ปรากฏการณ์นี้บอกเราว่า นักลงทุนไทย-เทศต้องการเงินสดมากกว่าถือกระดาษที่เป็นหน่วยลงทุน!

          ผมไปไล่ดูข้อมูลพบว่า กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูนนั้น จดทะเบียนตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิตอนนั้น 29,331.8 ล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีมูลค่าสินทรัพย์สูงสุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ราว 83,333 ล้านบาท ผู้ถือหน่วยรวยขึ้นอู้ฟู่...

          ทว่าตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563 กองทุนนี้ถูกระดมขายทิ้ง มีการไถ่ถอน มีคำสั่งขายออกมาหนักจนเหลือ 80,468 ล้านบาท พอถึงวันที่ 16 มีนาคม 2563 ก็ถูกเทขายยังกะฟ้าผ่ามูลค่าเหลือ 68,411 ล้านบาท วันที่ 18 มีนาคม 2563 ถูกขายอีกเหลือ 55,660 ล้านบาท

          วันที่ 23 มีนาคม 2563 หลังจากที่ธปท.-ก.ล.ต.ประกาศมาตรการพยุงกองทุน 1 วัน ถูกเทขายหนักจนมูลค่าเหลือ 35,657 ล้านบาท เฉพาะวันที่ 25 มีนาคม 2563 วันเดียว มีการขายทิ้งจนมูลค่าสินทรัพย์กองทุนเหลือ 29,331 ล้านบาท เท่าทุนกับวันที่จดทะเบียนเป๊ะ จึงเป็นเหตุให้ต้องปิดกองทุน!

          แล้วกองทุนธนเพิ่มพูนนี้ไปลงทุนในไหนบ้าง ผมพบว่า หุ้นกู้ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ ครั้งที่ 4/2562 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563 ในสัดส่วน 2.51% ของขนาดกองทุน หุ้นกู้ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ ครั้งที่ 1/2563 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 ในสัดส่วน 2.25%

          หุ้นกู้ต่างประเทศ UBS AG London คิดเป็น 2.12% ของกองทุน พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยงวดที่ 1/182/63 คิดเป็น 2.04% ตั๋วแลกเงิน บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ฯ 1,600 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 13 สิงหาคม 2563 (MBKET20813A)

          กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 มีจำนวนหน่วยลงทุน 3,446 ล้านหน่วย มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 25,191 ล้านบาท

          กองทุนนี้เคยมีสินทรัพย์สุทธิสูงสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ราว 80,748 ล้านบาท กองทุนนี้ถูกเทขายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9-25 มีนาคม 2563 พอถึงวันที่ 12 มีนาคม เริ่มเจอดี มีการขายหนักหน่วงจนมูลค่าสุทธิหน่วยลงทุนเหลือ 79,635 ล้านบาท วันที่ 13 มีนาคม เหลือ 73,039 ล้านบาท

          นับตั้งแต่นั้นมูลค่าหน่วยลดลงฮวบฮาบวันที่ 18 มีนาคม มูลค่าสินทรัพย์ของหน่วยลงทุนเหลือ 55,666 ล้านบาท วันที่ 20 มีนาคม มูลค่าสินทรัพย์เหลือ 44,000 ล้านบาท

          วันที่ 23 มีนาคม หลังจากหน่วยงานรัฐประกาศดูแลกองทุน ก็ยังถูกเทขายจากมูลค่าสินทรัพย์เหลือ 35,000 ล้านบาท วันที่ 24 มีนาคม มูลค่าสินทรัพย์เหลือ 29,331 ล้านบาท และวันที่ 25 มีนาคม 2563 มูลค่าสินทรัพย์เหลือ 25,191 ล้านบาท

          สถานการณ์แบบนี้เขาเรียกว่า “ตลาดกองทุนแตก” และเป็นการแตกที่ไม่จำกัดวงแคบเฉพาะบลจ.ทหารไทย อีสท์สปริงฯ แต่น่าจะกระจายวงกว้างออกไปในตลาดตราสารหนี้ และหุ้นกู้หลังจากนี้ เชื่อหัวอ้ายบากบั่นได้เลยครับ!

          วันก่อนผมอ่านข่าวเจอ รายงาน Asia Bond Monitor - March 2020 ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก และกำลังทำให้ตลาดพันธบัตร ตราสารหนี้ของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย เวียดนามระส่ำ

          โควิด-19 กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้ตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกขาดทุน ค่าเงินของภูมิภาคอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และที่สำคัญหลังจากนี้ไปส่วนต่างของอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ (CDS Swap Spread) จะกว้างขึ้น และจะเกิดการเทขายตราสารหนี้ในตลาด ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว

          สถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด ได้สร้างความกังวลว่า ตราสารหนี้ หน่วยลงทุน และบริษัทที่ออกหุ้นกู้ อาจจะผิดนัดชำระหนี้ และจะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปยังระบบการเงินทั่วโลก