อีแอบ “กินตับ” ไวรัสโควิด-19 ฟาดชุดตรวจ-น้ำยา รายละ 2-5 ล้าน

27 มี.ค. 2563 | 13:00 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3561 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย.63 โดย..พรานบุญ

 

          ป้องปากซุบซิบกันมาในวงการแพทย์-สถานพยาบาล-ห้องแล็บ ของรัฐและเอกชนมาร่วม 2 เดือน นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ระบาดในประเทศไทยว่า มีกลุ่มก๊วนการเมือง” มือดีเป็นอีแอบ “อาศัยจังหวะชุลมุนดักกิน” ค่าดำเนินการพิเศษ จากการนำเข้าน้ำยา-ชุดตรวจไวรัส (PCR) มาใช้ตรวจผู้ป่วยกันสนุกสนาน

          อีเห็นสาธยายว่า ถือเป็นการ “กินตับ” ของฝ่ายการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิดที่กระจายไปเกือบ 50 จังหวัดแล้ว

          เพราะสถานพยาบาลในประเทศไทยนั้นมีเครื่องตรวจเชื้อไวรัสแบบ PCR-Polymerase Chain Reaction ซึ่งเป็นกระบวนการในการสังเคราะห์ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ (DNA) ของสิ่งมีชีวิตในหลอดทดลอง เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อโรคจากพันธุกรรม การผันแปรทางพันธุกรรม การกลายพันธุ์ของยีน ที่ Karry Mullis คิดค้นขึ้นมา อยู่ไม่ถึง 40-50 เครื่อง มีผู้นำเข้าน้ำยาทั้งเอกชนและแล็บหรือเทคนิคการแพทย์ที่จำกัดจำนวนราย

 

อีแอบ “กินตับ” ไวรัสโควิด-19 ฟาดชุดตรวจ-น้ำยา รายละ 2-5 ล้าน

 

          ในสถานการณ์ที่บีบคั้นหัวใจคนไทย ที่ต้องการตรวจว่า ตัวเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ กลับมีสัตว์นรกชิงหมาเกิดมาแอบบริโภคค่าดำเนินการ....ก็ชิบหายสิครับพี่น้อง

          แล้วก๊วนกวนโอ๊ยเหล่านี้กินค่าหัวคิวเขมือบกันรายละเท่าไหร่....นังบ่างซักถามขึ้นมา

          พรานฯไปส่องมาจากสรรพสัตว์พบว่า มีการเรียก “ค่าดำเนินการ” ใน 2 หน่วยงานสำคัญของรัฐที่ทำหน้าที่อนุมัติ หรือออกใบอนุญาตให้แบ่งเป็น 2 ส่วน

          ถ้าเป็นชุดน้ำยาที่ต้องใช้ผสมเพื่อแยก DNA แยกไวรัสโควิด แยกเชื้อออกมานั้นจะคิดกัน “รายละ 2-3 กิโล”

          ถ้าเป็นการนำเข้าเครื่องตรวจ PCR จะเป็นเครื่องตรวจแบบพกพา เครื่องตรวจชุดเล็กราคาชุดละ 2-3 แสนบาท เครื่องตรวจชุดใหญ่ ชุดละ 900,000-1,000,000 บาท จะคิดค่าดำเนินการ 3-5 ล้านบาท

          ใครเป็นคนเก็บค่าดำเนินการ....นังบ่างซักยังกะพนักงานสอบสวน

          พรานฯไปพบว่ามีการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการที่เป็นผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจใน 2 หน่วยงาน กับ “ที่ปรึกษาใหญ่ ชื่อ นาย ทอ” ซึ่งนักการเมืองใหญ่ชื่อ “หมอ นอ” ส่งไปคุมเกมในหน่วยงานสำคัญในการออกใบอนุญาต หรืออนุมัติในการตรวจสอบเครื่องมือแพทย์ น้ำยา ว่า “มีคุณสมบัติ” ตรงตามที่ประสงค์หรือไม่

          ผู้นำเข้า เอกชนคนไหน “ไฟไม่กะพริบ” ต่อให้กรอกข้อมูลเพื่อขอใบอนุญาตทุกขั้นตอนเร็วแค่ไหน ไม่มีทางผ่านกระบวนการอนุมัติได้ดอก...พี่น้องเอร้ย

          นังบ่างถามต่อว่า “ค่าดำเนินการ” ขนาด 2-3-5 กิโลยังมีคนกล้าจ่ายหรือ

          ผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์บอกพรานฯมาว่า ทุกคนพร้อมจ่าย และตอนนี้มีผู้แจ้งขอนำเข้าที่ไปยื่นเรื่องไว้ทั้งเครื่องมือแพทย์ น้ำยากว่า 30 ราย รอคอยด้วยใจระทึก เพราะถ้าใครผ่านออกมาได้ หมายถึงการขายเครื่องและขายน้ำยาให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ และทุกครั้งที่มีการตรวจหมายถึงจะมีต้นทุนค่าน้ำยารายละ 200-300 บาท

 

          ลองเอาจำนวนคนในประเทศมาบวกลบคูณหารดูจะรู้ว่าคุ้มไม่คุ้ม 300 คูณ 500,000 ราย แล้วกัน หมายถึงเงิน 150 ล้านบาท ครับ!

          ถ้าคนทั้งประเทศตรวจแค่ 1.5 ล้านคนพอ จะตก 450 ล้านบาท นี่เฉพาะน้ำยา ที่ “ประเทศไทยไม่มีน้ำยา” จะผลิตต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อเมริกา เกาหลีใต้นะครับ

          ถ้าเครื่องตรวจขายเครื่องละ 1.5 ล้านบาท เอาโรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ 5,000 แห่งพอจะตกประมาณ 7,500 ล้านบาทแล้วพี่น้องเอร้ย!

          ผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งหนึ่งบอกพรานฯมาว่า เพราะการตั้งทีมเรียกค่าต๋งจากการนำเข้าน้ำยา เครื่องตรวจไวรัสที่ชักช้านี่แหละทำให้ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร ออกมาร้องดังๆ ว่า ต้องงดให้บริการตรวจ COVID-19 ช่วงวันที่ 20-22 มีนาคม 2563 เนื่องจากน้ำยาที่ใช้ในการตรวจขาดชั่วคราว

          ร.พ.พญไท 2 โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็บอกว่า น้ำยาที่ใช้ในการตรวจขาดชั่วคราว

          แม้ว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะออกมาบอกว่า กำลังจะนำส่งน้ำยาตรวจเชื้อโควิด-19 มาให้ใช้ ระหว่างรอตัวยาขอความร่วมมือประชาชน ถ้าหากไม่มีอาการชัดเจน เช่น ไอ มีไข้ ไอเจ็บคอ มีเสมหะ ก็แนะนำอย่าเพิ่งไปตรวจ เพราะเนื่องจากเป็นความต้องการเทียม

          อกอีแป้น จะแตก จะบ้าตาย....

          เชื่อพรานฯเถอะถ้ายังไม่แก้ปัญหานี้ หากโรคแพร่กระจายออกไปในวงกว้างและศูนย์บริการทางการแพทย์ทั้ง 40 แห่ง มีเครื่องมือไม่พอ จะไปหวังการนำเข้าคงแพงกว่านี้เป็นสิบเท่า เพราะทุกประเทศต้องการเครื่องมือแพทย์มาให้บริการประชาชน

          ดูอย่างปรอทวัดไข้ดิจิทัลที่ราคาเดิมไม่กี่ร้อยบาทตอนนี้ทะลุ 4,000-6,000 บาทไปแล้ว

          พรานฯละโล่งอกที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 (ศบค.) แถลงว่า นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ควบคุมศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยระดับชาติ ตั้งอนุกรรมการกำหนดราคากลางและเวชภัณฑ์ระดับประเทศ เพราะถือเป็นยุทโธปกรณ์ในการต่อสู้กับเชื้อโรค

          นอกจากนี้ได้เข้ามาดูแลชุดตรวจห้องปฏิบัติการที่มีความต้องการสูงมาก ขณะนี้ได้อนุมัติให้เอกชนเข้ามาจำหน่ายชุดตรวจ PCR แบบสอดเข้าไปในโพรงจมูกอีก 1 บริษัท และชุดตรวจแบบ Rapid Test เพิ่มขึ้น 3 บริษัท แต่นั้นยังไม่พอ

          ศอฉ.โควิด-19 ต้องเร่งกระบวนการพิจารณาอนุมัติการนำเข้าเครื่องมือแพทย์แบบฉุกเฉิน อย่าให้กระบวนการพิจารณาอยู่ในมือ

          ก๊วนกวนเมืองที่กินค่าต๋ง และต้องใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ร่วม 1-2 เดือน บางบริษัทคิวยาเป็นปีสองปีเด็ดขาด

          เพราะแม้ว่าเราต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ แต่อย่าลืมว่าเครื่องมือแพทย์เหล่านี้มีความต้องการสูง และทุกประเทศก็ต้องการใช้ ที่สำคัญมีการวัดผล ตรวจสอบคุณสมบัติในการใช้กับผู้ป่วยมาแล้วจากหลายประเทศ

          การเปิดทางให้หน่วยงานรัฐกำหนดคุณสมบัติ เช่น ใครนำเข้า PCR kit, ถ้ามี CFS (Certificate of Free Sale) ของ Japan Canada Australia US, ไม่ต้องให้กรมวิทยาศาสตร์ฯตรวจนํ้ายาก็จะเป็นช่องโหว่ให้มีการล็อกสเป็กบริษัทผู้นำเข้าได้นาพี่น้อง ถ้าไม่เชื่อพรานฯดูรายชื่อที่ได้รับอนุมัติก็ได้ว่าทำไมจึงมีแค่ 2-3 บริษัทที่เป็นรายใหญ่...

          การเปิดทางให้ใช้เงื่อนไขความไวเชิงวินิจฉัย (หมายถึงในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19)

          อาทิเช่น Antibody test kit; ≥ 85%, n ≥ 50 Antigen test kit; ≥ 90%, n ≥ 50

          ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย (หมายถึงในกลุ่มผู้ที่ไม่ติดเชื้อ) (Diagnostic specificity)

          Antibody test kit; ≥ 98%, n ≥ 100

          Antigen test kit; ≥ 98%, n ≥ 100

          ขีดจำกัดการตรวจพบ (Limit of Detection: LOD) (หมายถึง เชื้อต่ำสุดเท่าไหร่จึงจะตรวจพบ) มากำหนดย่อมเกิด“ดุลพินิจ”และสร้างระบบ”จ่ายชุดใหญ่ไฟกะพริบ” ครับลุงตู่

          เปิดให้นำเข้ามาเร็วๆ ลุงตู่ เลิกให้ใครกินค่าหัวคิวด่วนก่อนจะตายกันทั้งประเทศ