โค้งอันตรายโควิด-19 อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

27 มี.ค. 2563 | 11:30 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3561 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.- 1 เม.ย.63 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

 

          สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ลุกลามอย่างหนักหน่วงทั่วโลก ในสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อสะสมหลายหมื่นราย ในอิตาลีมียอดเสียชีวิตรายวันกว่า 500 ราย ในไทยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายต่อวันต่อเนื่องกันเป็นสัปดาห์ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 1 พันคน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน

          ว่ากันว่ายังไม่ถึงจุดพีกสำหรับประเทศไทย เมื่อยังมีผู้กระจายเชื้อหรือยังมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบ และผู้ติดเชื้อเหล่านั้นยังคงไปพบปะสัมผัสกับผู้อื่นแพร่กระจายเชื้อออกไปโดยไม่รู้ตัว จาก 1 เป็น 5 จาก 5 เป็น 15 เป็น 30 เป็น 60 เป็น 100 เป็น 1,000 หากคิดอัตราเพิ่มที่ 33% ก็เป็นอัตราเพิ่มที่สูงเกินกำลังและขีดความสามารถของแพทย์ และเตียงพยาบาล ทั้งระดับปกติและผู้ป่วยหนักไอซียู

          ประมาณการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 จะมีจำนวนสูงกว่า 3.5 แสนคน หากยังคงคุมจำนวนการแพร่ระบาดไม่ได้ โดยเฉพาะหากมาตรการที่รัฐออกมาภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตรึงคนให้กับอยู่บ้านไม่ได้ผล

 

          รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 โดยนั่งเป็นประธานและผู้อำนวยการศูนย์แก้ปัญหาเอง ตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบระดับปลัดกระทรวงปฏิบัติการในแต่ละด้านออกมา พร้อมกับการเริ่มมาตรการจากเบาไปหาหนัก

          ด้วยการคุมเข้มการเดินทางจากต่างประเทศ ต้องมีใบอนุญาตทำงานจึงเข้ามาได้ ส่วนคนไทยที่กลับจากต่างประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์มาด้วย เรียกว่าทำให้ขั้นตอนยุ่งยากมากขึ้น ขณะที่คนภายในประเทศเองในการเดินทางข้ามจังหวัดมีด่านสกัดหลายแห่งที่คอยตรวจตราเข้า-ออก บางจังหวัดประกาศปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ในบางช่วงเวลา แต่ยังไปไม่ถึงขั้นเคอร์ฟิว

          “คุมเข้มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นเคอร์ฟิว ถ้าเคอร์ฟิวรอบนี้ ไม่เหมือนเคอร์ฟิวเวลาเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา เที่ยวนี้สู้กับโรค ถ้าเคอร์ฟิวต้องคุมทั้ง 24 ชั่วโมง ให้ออกได้เฉพาะจำเป็นไปซื้อยา ไปหาหมอ ไปซื้ออาหารเท่านั้น เมื่อถึงขั้นนั้นทุกอย่างจะหยุดลงทั้งหมด มีกิจกรรมเพียงเพื่อให้มีชีวิตรอดเท่านั้น”

          ศอฉ.จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ก่อนประกาศข้อกำหนดออกมาว่าจะไปถึงขั้นไหน ในช่วงเวลาไหน แต่หากดูแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ออกมายังไม่เพียงพอ โอกาสล็อกดาวน์ 24 ชั่วโมงมีสูง แต่จะเป็นระยะเวลากี่วัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การประเมินจุดพีกของโรคระบาดว่าสามารถก้าวผ่านไปได้หรือไม่

          การตรึงคน การให้คนอยู่กับบ้าน นั่นหมายความว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจสำหรับคนที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านต้องหยุดชะงักลง ขาดงาน ขาดรายได้ ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเยียวยาแล้วทั้งการแจกเงิน 5 พันบาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน

 

          มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ เริ่มต้นเป็นเฟสๆ ไป เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 รอบนี้หนักหนา

          สาหัสจริงๆ โดยธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ประเมินล่าสุดปีนี้จีดีพีหดตัวแรงที่ 5.3% ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวสูงมากในรอบหลายปีที่เป็นวิกฤติใหญ่ๆ ที่ผ่านมา

          รัฐบาลเห็นว่าการอัดฉีดผ่านการแจกเงิน ลดค่าประกันการใช้ไฟฟ้า พักหนี้เงินต้น ดอกเบี้ย มาตรการอื่นๆยังไม่เพียงพอ ยังต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินอีกกว่า 2 แสนล้านบาทรวมกับการโยกงบปี 2563 มาใช้เพื่อการฟื้นฟูเยียวยาอีกสัก 2 แสนล้านบาท ทั้งหมดยังไม่มีใครบอกได้ว่าเอาอยู่หรือไม่ แต่อันนั้นต้องเป็นสถานการณ์หลังควบคุมโรคได้แล้ว

          ระหว่างที่การควบคุมโรคยังไม่เบ็ดเสร็จ และพุ่งเข้าหาช่วงพีกนั้น ยังต้องเข้มข้นในเรื่องการแยกคนให้อยู่ห่างกันให้ออกจากกันให้ได้มากที่สุดก่อน

          อย่างไรก็ดี มาตรการการแยกคน การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การให้คนอยู่กับบ้านดูเหมือนจะไม่ได้ผล

          “คนยังแห่ไปธนาคารกันทะลักทลาย เพื่อขอพักหนี้ ขอลดดอกเบี้ย ขอสินเชื่อผ่อนปรน ที่รัฐออกมาตรการกันมา หรือกระทั่งการจ่าย 5 พันบาท ทั้งที่รัฐบอกว่าจ่ายเข้าบัญชีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมเพย์ ไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคาร แต่คนที่ทำไม่เป็นก็ยังไปและกลัวไม่ได้เงิน ซึ่งหมายถึงโอกาสเสี่ยงในการกระจาย การแพร่เชื้อติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก ออกกฎมาให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานแบงก์จัดช่วงเวลาลงพบปะประชาชนได้หรือไม่ จะได้ไม่มาแออัดให้ติดโรค” เจ้าหน้าที่ปกครองที่ดูแลควบคุมในบางจังหวัดให้ความเห็นแบบเหนื่อยล้าเต็มทีกับการจัดระบบหน้างานเพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด

          ณ เวลานี้เข้าสู่ช่วงเดิมพันครั้งสุดท้ายของทุกฝ่ายกันแล้ว ทั้งฝ่ายดูแลควบคุมสถานการณ์ของลุงตู่และสำคัญสุดคือ ฝ่ายประชาชนที่ต้องร่วมมือ สู้ อดทน อย่างเต็มที่ รับฟังข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนจากทางการให้ความร่วมมือในการอยู่กับบ้าน ขณะที่รัฐต้องหาทางใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยอย่างเต็มกำลัง ในการใช้มาตรการและการเยียวยาทั้งหมด

          น่าจะอยู่ในช่วงโค้งอันตรายแล้ว ตรึงคนอยู่กับบ้านให้ได้ อยู่กับบ้านโดยไม่ต้องตรึงให้ได้

          อยู่ที่ตัวเราเองเท่านั้นจะกำหนดสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร