ป่วนทั้งประเทศ...เมื่อประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นรัฐบาล

28 มี.ค. 2563 | 22:30 น.

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 กลายเป็นมหันตภัยร้ายที่ทำให้คนทั้งโลกไม่มีความสุข ใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้น ต่างไม่รู้ว่าจะต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน จึงจะควบคุมหรือหยุดการแพร่ระบาดได้ เมื่อโลกเกิดความปั่นป่วนและตื่นตระหนกต่อเนื่อง ย่อมไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และสะท้อนไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่แย่ลง

สำหรับประเทศไทยนอกจากดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากแล้ว ยังมีประชาชนจำนวนมากเริ่มไม่เชื่อมั่นในการรับมือแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากรัฐบาล เริ่มจากการมองว่ารัฐบาลออกมาแอกชันในการรับมือโควิด-19 ล่าช้าไปหรือเปล่า ทั้งที่ควรจะตื่นตัวให้เร็วกว่านี้ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ออกมาใช้ “ยาแรง” ด้านต่างๆ ในทันทีในระยะที่ยังควบคุมได้

โดยเฉพาะตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เจล แอลกอฮอล์ ก็ประสบความล้มเหลวตั้งแต่ยกแรก ภาครัฐบอกว่ามีเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงขาดแคลนจนถึงทุกวันนี้ มีประชาชนอีกจำนวนมากไม่สามารถหาซื้อได้ ยิ่งหนักไปกว่านั้นยังพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งมีหน้ากากอนามัยรองรับไม่เพียงพอ ทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องอยู่กับคนเจ็บป่วยมากที่สุด ปัญหาหน้ากากอนามัยจึงกลายเป็นประเด็นดราม่าและประเด็นทางการเมืองไปเรียบร้อย

รวมถึงมาตรการที่ออกมาให้คนอยู่กับบ้านเพื่อระงับการเดินทางและการพบปะระหว่างบุคคล ศูนย์การค้าในเขตกรุงเทพฯ และในบางจังหวัด และตามสถานที่เสี่ยงที่มีคนจำนวนมาก ต้องปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เป็นอีกส่วนที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนจนเกิดเสียงตำหนิติติงถึงการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ประสานกันให้ดี โดยเฉพาะเสียงบ่นที่ผ่านช่องทางโซเชียลแบบรุมกระหนํ่ารายวัน

“รัฐบาลใช้นโยบายการข่าวที่โลเลมาตลอด ข่าวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติแบบนี้ ควรออกมาทางเดียว ต้องตั้งทีมเฉพาะกิจ เพื่อให้ข่าวไปในทิศทางเดียวกัน” นี่คือเสียงจากประชาชนที่สะท้อนภาพให้เห็นถึงความล้มเหลวในการให้ข่าวสารสำคัญของบ้านเมืองในยามวิกฤติเช่นนี้

อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างบูรณาการ เพราะสิ่งที่ขาดไปและยังไม่ได้ดำเนินการทันทีควบคู่กับมาตรการปิดบางพื้นที่ บางสถานที่ในกทม. คือผลกระทบอีกด้านต่อแรงงาน เช่น แผนรองรับคนตกงานโดยเฉพาะแรงงานลูกจ้างรายวัน ที่รัฐควรจะประกาศแผนรองรับทันทีคู่ขนานกัน เพื่อป้องกันแรงงานจำนวนมากไหลกลับภูมิลำเนา  เมื่อไม่มีงานทำ จะนำเงินที่ไหนไปจ่ายค่าที่พัก จ่ายค่าอาหาร อย่างน้อยกลับบ้านก็มีข้าวกิน สิ่งเหล่านี้ประกาศออกมาใช้พร้อมกันในคราวเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือออกมาตรการช่วยเหลือตามหลัง ในขณะที่แรงงานส่วนหนึ่งก็กลับภูมิลำเนาไปแล้ว

กรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างที่โลกโซเชียลรุมสวดทำนองว่า “รัฐบาลจะคุมการแพร่ระบาดหรือกำลังปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดเร็วขึ้นเพราะคนแห่กลับภูมิลำเนากันเป็นแถว”

เช่นเดียวกันจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลว่า สถานการณ์จะแย่ลงจนไม่สามารถควบคุมได้จึงเริ่มกักตุนสินค้าจำเป็น และหลังจากรัฐบาลมีมติให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้มีผลไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม หลังการประกาศไม่นาน ประชาชนก็ยิ่งแห่ไปซื้อสินค้าจำเป็นภายในห้างค้าปลีกจำนวนมาก โดยประชาชนไม่สนใจคำร้องขอของกระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่ามีสินค้าอย่างเพียงพออย่าซื้อกักตุน

การบริหารจัดการของรัฐบาลในช่วงวิกฤติแบบนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าไร้ทิศทางข้อมูลข่าวสารที่ออกมาคนละทิศละทาง บวกกับการบริหารจัดการของภาครัฐทั้งในระดับนโยบาย และในระดับฝ่ายปฏิบัติไม่ไปทิศทางเดียวกัน

ในยามวิกฤติประชาชนก็หวังจะพึ่งพารัฐบาลเป็นที่ตั้ง แต่ผลที่ได้รับคือความสับสน ประชาชนต่างต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ขอให้วิกฤติไวรัสโคโรนาครั้งนี้เป็นบทเรียนให้กับการทำงานของรัฐบาล อย่าให้เกิดการป่วนทั้งประเทศ...เมื่อประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่น

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563

ป่วนทั้งประเทศ...เมื่อประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นรัฐบาล