พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้ภัยโควิด-19

28 มี.ค. 2563 | 01:55 น.

 

คอลัมน์ รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม-1 เมษายน 2563

 

ตอนนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดที่คนทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันคือ โควิด-19 ซึ่งตอนนี้เชื้อไวรัสชนิดนี้ได้แพร่ไปแล้วถึง 198 ประเทศ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 468,577 คน โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 21,185 คน (สถิติในเช้าวันที่ 26 มีนาคม 2563) แม้หลายฝ่ายจะออกมาให้ความเห็นว่าไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง เพราะถึงแม้จะติดเชื้อแล้ว แต่ก็มีโอกาสรักษาหายได้ ซึ่งจากสถิติผู้ติดเชื้อดังกล่าวมีผู้ที่รักษาหายแล้ว 113,817 ราย

อย่างไรก็ตาม อันตรายของโรคนี้คือการแพร่ระบาดได้ง่าย และเมื่อป่วยต้องได้รับการรักษาพยายาลที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ช่วยในกรณีที่ป่วยหนัก ดังนั้น หากมีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็วที่ส่งผลให้อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการรักษา จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี ที่มีผู้เสียชีวิตวันละเกือบ 1,000 คน

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงออกมารณรงค์เพื่อให้มีการเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อลดจำนวนการแพร่กระจาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือบุคคลกลุ่มเสี่ยง เพราะจะทำให้สามารถแยกได้ชัดเจนระหว่างผู้ป่วยกับบุคคลทั่วไป และจะได้ทำการรักษาเฉพาะผู้ป่วย โดยที่บุคคลที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อจะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้กับบุคคลทั่วไปโดยไม่รู้ตัวอีก เนื่องจากปัจจุบันสถิติการแพร่ระบาดของประเทศไทยมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อในอัตราสูงขึ้นกว่า 30% ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี เยอรมนี และเกาหลีใต้ ที่ล้วนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแพร่กระจายในอัตราส่วนดังกล่าวจะเป็นปัญหาอย่างมากในไทย เพราะอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยจะมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤติในครั้งนี้

ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดอำนาจในการจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จริงๆ แล้ว พระราชกำหนดฉบับนี้มีมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว และรัฐจะนำมาประกาศใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดการประเทศในภาวะฉุกเฉิน

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้ภัยโควิด-19

 

หลายท่านอาจสับสนว่ากฎหมายฉบับนี้กับการประกาศเคอร์ฟิวเหมือนหรือต่างกันอย่างไร หากจะพิจารณาตัวกฎหมายฉบับนี้ให้ดี จะเห็นว่าการประกาศเคอร์ฟิวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่สามารถบังคับใช้ได้ตามอำนาจในพระราชกำหนดฉบับนี้ ถึงแม้จะมีการประกาศใช้ ... ฉุกเฉิน แล้วก็ตาม ในการประกาศใช้แต่ละครั้ง รัฐจะกำหนดรายละเอียดของสิ่งที่ต้องปฏิบัติไว้ต่างหาก มิได้หมายความว่าการประกาศใช้นั้นจะต้องใช้ข้อกำหนดทุกอย่างที่บัญญัติไว้ใน ...ฉุกเฉิน แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-30 เมษายน 2563 ซึ่งในการนี้ได้ออกข้อกำหนด ตาม ...ฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติ ซึ่งหลักใหญ่ใจความก็จะเป็นเรื่องการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดปิดสถานที่หรือสถานบริการ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การปิดช่องทางการเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร


 

 

การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าวบิดเบือนการออกมาตรการรับมือของหน่วยงานต่างๆ การให้ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีโรคประจำตัวอยู่บ้าน มาตรการป้องกันโรค การจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัดที่ต้องมีการตรวจตราอย่างเข้มงวด และมาตรการอื่นๆ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามการกระทำที่มีการฝ่าฝืน ซึ่งส่วนมากจะมีการกำหนดโทษไว้ คือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไปไม่เกิน 400,000 บาท

จะเห็นได้ว่าการประกาศใช้ ...ฉุกเฉิน ในครั้งนี้ ไม่ถือว่าเป็นการประกาศเคอร์ฟิว เพราะยังไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนดแต่อย่างใด นั่นหมายความว่ารัฐเลือกที่จะใช้บทบัญญัติเพียงบางข้อของ ... บางคนอาจรู้สึกว่านี่ยังไม่ใช่ยาแรงที่จะใช้ในการสู้วิกฤติโควิด-19 หากจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นว่า รัฐค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นในการจัดการกับปัญหานี้เป็นลำดับ

เพราะหากการควบคุมและกำกับการย้ายพื้นที่ของคนในประเทศ การกำหนดให้คนที่เป็น กลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดโรคอยู่บ้าน หรือแม้แต่มาตรการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) รวมทั้งการรณรงค์ให้อยู่บ้านสู้ภัยโควิด (stay at home) ถ้าพี่น้องประชาชนทำตามข้อกำหนดดังกล่าวอย่างอดทนและมีวินัย ไม่ออกจากบ้านไปรวมกลุ่มกันในยามวิกาล ความจำเป็นในการใช้ยาแรง เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ก็น่าจะเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะมีความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนว่าจะให้ความร่วมมือกับข้อกำหนดที่กล่าวมาข้างต้นมากน้อยเพียงใด

ถ้าหากพี่น้องประชาชนไม่อยากให้มีการใช้ยาแรงถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิว ในช่วงนี้โดยเฉพาะท่านที่เพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่านที่อาศัยอยู่ริมทะเลหรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็ไม่ควรมารวมตัวกัน อันจะเป็นช่องทางในการแพร่ไวรัสให้ระบาดได้ในชุมชน

ตอนนี้พวกเราต้องร่วมมือกันในการต่อสู้กับมหันตภัยที่มาจากโรคร้ายซึ่งกำลังทำลายขวัญของคนทั่วโลก แม้นี่จะไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามที่มีการสู้รบกัน แต่ท่านคงทราบดีว่าผลกระทบที่ได้รับเกิดขึ้นในวงกว้างและกระจายไปทั่วทุกมุมโลก และดูเหมือนทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ขอวิงวอนให้พี่น้องร่วมด้วยช่วยกันในการอยู่บ้าน เดินทางแต่เฉพาะที่จำเป็น ดูแลรักษาสุขภาพไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเป็นการช่วยให้ประเทศและประชาคมโลกพ้นภัยจากโควิด-19 ในเร็ววันนี้นะครับ