ฤาคนที่ตายจากศก. มากกว่าโควิด-19

28 มี.ค. 2563 | 01:20 น.

คงต้องยอมรับกันแล้วนะครับว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า โควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งสำนักพยากรณ์หลายสำนักฟันธงตรงกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ถดถอยครั้งรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยของเราแบงก์ชาติประเมินว่าเศรษฐกิจในปี 2563 นี้จะติดลบ 5.3% จากเดิมคาดขยายตัว 2.8%

นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบหนักสุดในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541

แบงก์ชาติ ประเมินว่าแม้การระบาดของไวรัสจะควบคุมได้ไตรมาส 2 หรือเดือนเมษายน 2563 แต่การฟื้นตัวนักท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลา การส่งออกสินค้าและบริการ ยังมีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่ภาคการบริโภคยังมีแนวโน้มการหดตัว และแม้ว่าในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ จะมีสัญญาณบวก แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ตัวเลขจีดีพีขยายตัวได้ เนื่องจากแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสยากต่อการคาดเดา จะกินเวลายาวนานแค่ไหนหรือ ที่สำคัญวัคซีนที่ทดลองจะเกิดผลสำเร็จและมาตรการแต่ละประเทศรวมทั้งไทยจะสามารถดำเนินนโยบายได้เพียงใด

“การหดตัวของจีดีพีมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะผลจากภาคส่งออกสินค้า บริการซึ่งรวมนักท่องเที่ยวซึ่งสถานการณ์จะรุนแรงสุดในไตรมาส 2 จากมาตรการห้ามเคลื่อนย้าย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขประเมินการระบาดของไวรัสจะรุนแรง ดังนั้น ถ้าทุกคนร่วมมือกันจะช่วยลดผลกระทบได้”

ยิ่งถ้าดูจากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เราจะเห็นภาพชัดเจนว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไปยังภาคธุรกิจและรายได้ครัวเรือนของประชาชนเป็น วงกว้าง การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนหดตัว

กนง.ยังแสดงความเป็นห่วงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนหรือประชาชน และธุรกิจ SMEs ที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง

 

ฤาคนที่ตายจากศก.  มากกว่าโควิด-19

 

ในประเด็นนี้สำหรับคนที่ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จะมองเห็น ภาพความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเลยครับว่า เมื่อคนที่เป็นหนี้กับแบงก์พาณิชย์ไม่มี เงินจ่ายหนี้ แบงก์เองก็จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น เมื่อแบงก์มีหนี้เสียเพิ่ม แบงก์ก็จะไม่ปล่อยเงินกู้ต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้

ถึงตอนนั้นธุรกิจต่างๆ ก็จะพากันลดเงินเดือน ลดจำนวนพนักงาน เพื่อความอยู่รอด ที่สำคัญคือจะมีธุรกิจที่สายป่านไม่ยาวพอจำนวนมากต้องปิดกิจการลง คนที่ว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

นั่นหมายความว่าคนที่จะตายจากเศรษฐกิจในรอบนี้จะมากกว่าคนที่ตายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ระดับ 413,467 ราย และยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 18,433 ราย

ในรายงานกนง.ระบุชัดครับว่า ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยมาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วน จะต้องผนึกกำลังร่วมกันฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ครับ

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก 

หน้า 10 หนังส่ือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันทืี่ 29 มีนาคม-1 เมษายน 2563