วิธีตอบคำถามของผู้นำ...ที่พระพุทธเจ้าสอน

29 มี.ค. 2563 | 22:55 น.

คอลัมน์ทำมา..ธรรมะ โดย ราช รามัญ

 

เคยสังเกตการณ์ตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า เมื่อได้อ่านในพระสูตรต่างๆ พระองค์จะค่อนข้างนิ่งละมีสติใคร่ครวญในการตอบคำถามเสมอเมื่อมีผู้มาถาม ไม่ว่าจะเป็นนักบวชต่างลัทธิ ไม่ว่าจะเป็นพระสาวกเอง หรือ ตลอดทั้งผู้นำในทางบ้านเมือง

เหมือนเมื่อครั้งหนึ่ง ตาลปุต นักแสดงมาถามปัญหากับพระองค์ ก็ทรงนิ่งเงียบเสียไม่ตอบ 

เหมือนพราหมณ์ตนหนึ่งมาถามท่านเรื่องชีวิตหลังจากความตายจะไปไหน พระองค์ก็ไม่ตอบ เพราะพระองค์มีเหตุผลในการไม่ตอบเพราะบางเรื่องก็ยากจะอธิบายให้เข้าใจได้... 

เหมือนกันในการบรรดาผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศไทย ผมชอบ พลเอก เปรม เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างมาก เพราะบางทีท่านก็ไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวบ่อยเข้าจนได้รับฉายาว่า เตมีใบ้ 

ความจริงวิธีของท่านนั้นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าสอนเลยทีเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กร หัวหน้างาน ตลอดทั้งเป็นบังคับบัญชาระดับสูงของข้าราชการอะไรก็ตามถ้ามีความรู้ในการตอบคำถามบ้างก็จะนับได้ว่าเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำไม่ใช่เป็นผู้นำที่มีแต่ตำแหน่งผู้นำ

พระพุทธเจ้าทรงสอนการตอบคำถามเอาไว้อย่างน่าสนใจ

ปัญหาที่พึงควรตอบทันที คือ เมื่อถามแล้วตอบเลย 

ปัญหาที่พึงควรแยกตอบทีละส่วน คือ เมื่อถามแล้วต้องจำแนกแจกแจงในรายละเอียดแบบไม่ใช้อารมณ์ฉุนเฉียวแบบคนไร้การศึกษา

ปัญหาที่พึงควรนำเอาไปย้อนถามแล้วจึงตอบ คือ บางคำถามเมื่อเขาถามมาก็ลองถามความเห็นเขากลับแล้วจึงตอบ

สุดท้าย ปัญหาบางปัญหาไม่ควรตอบ คือ เมื่อได้ยินคำถามแล้วถ้าคำถามนั้น หากยังไม่ชัดเจนในข้อมูลหรือยังไม่ได้รับรายงานตลอดทั้งถ้าตอบแล้วไปกระทบกับคนอื่นๆก็ไม่ควรตอบ

ทั้ง 4 วิธีตอบคำถามนี้ สามารถนำเอาไปปรับใช้ได้หมด ไม่ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีตำแหน่งอะไรเลยก็ใช้กับครอบครัวได้ หรือหากเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าหน่วยและองค์กร ยิ่งดีมาก

ในพระสูตรที่ชื่อว่า ปัญหาสูตร จ.อํ พระไตรปิฎกเล่มที่21 สอนเอาไว้ชัดเจนว่า ปัญหาบางปัญหาพึงรีบตอบ ปัญหาบางปัญหาบางปัญหาตอบทีละประเด็น ปัญหาบางปัญหาเอาปัญหาไปย้อนถามแล้วค่อยตอบ และบางปัญหาไม่ควรตอบเลย