จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19” ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่

25 มี.ค. 2563 | 07:45 น.

จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19”  ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเจอวิกฤติหนัก ๆ มาหลายครั้ง หนักและเลวร้ายสุดน่าจะเป็นในปี 1930(พ.ศ.2473) ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง (Great Depression)” อัตราขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ที่ -13% (คำจำกัดความ “Depression” บอกว่าเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง GDP ลดลงมากกว่า 10%) และวิกฤติล่าสุดเกิดในช่วงปี 2008(2551) และ 2009(2552) ที่เรียกว่า “วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis)”  

 

ที่เรียกอย่างนี้เพราะซับไพรม์คือ“ลูกหนี้ที่มีเครดิตต่ำหรือด้อยคุณภาพ” ซึ่งวิกฤติครั้งนั้นเรารู้จักในนาม “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เพราะเกิดจากประเทศสหรัฐฯ หรืออาจจะเรียกว่า “วิกฤติเลแมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers)” ก็ได้เพราะวิกฤติครั้งนี้ต้องทำให้วาณิชธนกิจหรือธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ที่ตั้งมามากกว่า 100 ปี “ล้ม”

 

วิกฤติครั้งนั้นเกิดจากการที่ภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ แตก เริ่มจากอดีตประธานาธิบดีบุช (2544-2552) ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed Fund Rate) จาก 6.54% เหลือต่ำกว่า 2% (ระหว่างปี 2544 -2548) ทำให้ชาวอเมริกันกู้เงินซื้อสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “กู้ซื้อที่อยู่อาศัย”

จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19”  ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่

การขอกู้มีทั้งลูกหนี้เครดิตดีและไม่ดีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลราคาบ้านและที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการที่มากขึ้น ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจาก 23 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเป็น 140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ในปี 2550 อัตราดอกเบี้ยถูกปรับให้สูงขึ้นไปอยู่ที่ 5.25% เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าที่สูง ในขณะที่หนี้ของการกู้ซื้อบ้านมีการ “เล่นแร่แปรธาตุ” สถาบันการเงินนำสินเชื่อซับไพรม์ไป "ขายต่อ" เพื่อกระจายความเสี่ยง

 

เท่านั้นยังไม่พอ ยังนำไปทำ “การประกันความเสี่ยง” ของหนี้เหล่านี้  เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้ สถาบันการเงินทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจึงล้ม “ระเนระนาด” GDP โลกลดลง ธนาคารของรัฐฯ ที่ปล่อยกู้อย่าง “Fanny May” และ "Freddy Max” ก็ล้มละลาย วิกฤติครั้งนี้จึงถูกเรียกว่า “เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Great Recession)”

จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19”  ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่

 

สำหรับคำจำกัดความของเศรษฐกิจถดถอย  (Julius Shiskin, Bureau of Labor Statistics) ประกอบด้วย 1.อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส 2.GDP ลดลง 1.5% 3.ภาคอุตสาหกรรมลดลงภายใน 6 เดือน และ 4.การว่างงาน 6%

จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19”  ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่

หันมาดูกันว่าผลของ “โคโรนาไวรัส” หรือโควิด-19 จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะตกต่ำรุนแรงหรือถดถอยรุนแรงกันแน่ 1.ดัชนีอุตสาหกรรมจีนติดลบ ช่วงปลายปี 2550 ถึงไตรมาสหนึ่งของปี 2551 (ที่เกิดวิกฤติซับไพรม์)ดัชนีอุตสาหกรรมของโลกติดลบไป -25% ซึ่งตัวเลขไปสอดคล้องกับ “เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัวรุนแรง”

 

โดยสำนักงานสถิติจีน (National Bureau of Statistics of China : NBC) รายงานดัชนีคำสั่งซื้อผู้จัดการ (Purchasing Managers Index : PMI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 35.7 จากเดือนมกราคมอยู่ที่ 50 ขณะที่ดัชนีมิใช่ผลผลิตอุตสาหกรรม (Non non-manufacturing PMI) (วัดจากภาคบริการและก่อสร้าง) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 29.6 ลดลงจากเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 54.1 ต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554

 

ดัชนี PMI ประกอบด้วยดัชนีการนำเข้าที่ลดลงเหลือ 31.9 จาก 49.0  ดัชนีการส่งออกลดลงจาก 28.7 จาก 48.7 เหตุผลเพราะการส่งมอบสินค้าที่ล่าช้า ในขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อลดลงเหลือ 29.3 จาก 51.4 และดัชนีการจ้างงานลดลงเหลือ 31.8 จาก 47.5 และจากรายงานขององค์การการค้าโลก(WTO) เมื่อ ปี 2562 นับตั้งแต่ปี 2543  ห่วงโซ่การผลิตโลก “Global Value Chain : GVC” ถูกเปลี่ยนจากการพึ่งพิงประเทศญี่ปุ่นเป็นพึ่งพิงจีนในทุกอุตสาหกรรม ฉะนั้นการลดลงของดัชนีอุตสาหกรรมจีนย่อมทำให้การผลิตของอุตสาหกรรมทั่วโลกปรับตัวลดลงตามไปด้วย

 

จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19”  ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่

2.การส่งออกจีนลดลง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่งออกจีนติดลบไปแล้ว 17%  เพราะโรงงานปิด ทำให้ขาดดุลการค้า 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนตู้สินค้าส่งออกลดลงจาก 500 ล้านตู้ เหลือ 150 ล้านตู้ ในขณะที่ปี 2551 การส่งออกของประเทศเกิดใหม่ (Emerging Country) ติดลบ -0.8%

 

3.ราคาน้ำมันโลกลดลง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563  - กุมภาพันธ์ 2563 ราคาน้ำมันดิบลดลงจาก 65 เหรียญต่อบาร์เรล เหลือ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล 4.อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำ อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้ศูนย์ ตั้งแต่ปี 2551-2558 และเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ย เหลือ 0-0.25 % เมื่อเปรียบเทียบตัวเลข (จากตารางข้างล่าง) จากวิกฤติซับไพรม์ วิกฤติปี 2473  กับเศรษฐกิจปี 2563 เห็นได้ชัดเจนว่า ปี 2563 ยังไม่ถึงกับวิกฤติปี 2473  แต่จะเป็นปีแห่ง “เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรง (Great Recession)”

 

ทั้งนี้ลักษณะการเกิดวิกฤติในปี 2563 จะเริ่มในปลายปี 2563 ซึ่งเหมือนกับวิกฤติซับไพรม์ที่เกิดปลายปี 2550 เช่นกัน และใช้เวลาเกิดจนจบ 19 เดือน (ธ.ค. 2550 ถึง มิ.ย. 2552) และจากรายงานของ “IMF” “World Economic Outlook : Crisis and Recovery”  เมื่อเดือนเมษายน 2552 ระยะเวลาของเศรษฐกิจภาวะถดถอยในช่วงวิกฤติซับไพรม์จะใช้เวลาถึง 3.6 ไตรมาส นั้นหมายความว่าถูกทอดยาวออกไปเกือบ 1 ปี ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาของวิกฤติซับไพรม์ที่ 19 เดือน ฉะนั้นวิกฤติปี 2563 น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ลักษณะเศรษฐกิจจะเป็นแบบ “U Shape” ครับ

จาก “ซับไพรม์”ถึง “โควิด-19”  ศก.โลกจ่อถดถอยรอบใหม่