เปิดโอกาส ... ในการปิด

25 มี.ค. 2563 | 06:56 น.

คอลัมน์:เล่าตามที่เห็น  พูดตามที่คิด

โดย:ดร.สมชาย หาญหิรัญ

 

ไม่ต้องสงสัยว่าวันนี้เราถือว่า COVID-19 เป็นวิกฤติที่ต้องจัดการก่อนเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะต้นทุนอะไรเท่าไรก็ต้องจัดการให้จบให้ได้ หรืออย่างน้อยมีผลกระทบต่อคนไทยและประเทศให้น้อยที่สุด และวันนี้เราเตรียมตัวและเตรียมการเข้าสู่จุดพีคของปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการเข้มข้น อาทิ การประกาศปิดกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวของคน ไม่ว่าเป็นการปิดห้างสรรพสินค้า โรงหนัง สถานที่ท้องเที่ยว ร้านอาหาร งดจัดงานเทศกาล งานแต่งงาน หรืออื่น ๆ ที่มีจะมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก รวมทั้งปิดสถานที่ต่าง ๆ และที่สำคัญได้ขอให้ประชาชน “ปิด” ตัวเอง หรือ social distancing (isolation) และแน่นอนการปิดกิจกรรมต่าง ๆ มีต้นทุนมากมายทั้งเศรษฐกิจในภาพรวมและส่วนตัว และสำคัญแต่ละคนแล้วอาจกลายเป็นสิ่งที่ขัดกับความเคยชินของการใช้ชีวิตหลายคน คนไทยชอบสังคม วัยรุ่นชอบแฮงค์เอาท์กับเพื่อนหลังเลิกงานเลิกเรียน พอให้อยู่คนเดียวหรือห่างเพื่อนๆดูไม่ถูกใจคนกลุ่มนี้เท่าไร

การปิดกิจกรรมเหล่านี้ก็เพื่อตัดโอกาสการแพร่กระจายตัวของไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมาเราพบสิ่งสำคัญสองสิ่งที่ต้องมาสู่การแยกคนออกจากคน คือ เชื้อไวรัสนี้ติดจากคนสู่คน และจำนวนคนที่ติดโควิดเพิ่มขึ้นจำนวนมากมาจากสถานที่สาธารณะ ดังนั้น การแยกคนออกจากคน จึงน่าจะเป็นการตัดสื่อกลางขยายตัวของไวรัสนี้ ซึ่งประเทศจีนก็แสดงให้เห็นว่าได้ผล แต่ต้องเข้มข้นจริง ๆ และได้รับความรวมมือจากคนไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ในมาตรการ “ปิด” เมืองครั้งนี้ ปัญหามากมาย ผลกระทบเยอะแยะ คนพูดมามากแล้ว เราลองหามองในมุม ๆ ดี ๆ ดูบ้างว่ามีอะไรหรือไม่ ผมลองสังเกตุดู ก็พบว่าพอมีบ้างให้สบายใจ เช่น .....

เปิดโอกาสให้ธุรกิจร้านค้าทั้งเล็กหรือใหญ่ปรับตัวเข้าสู่การตลาดแบบใหม่ที่กำลังบูมมาสักพักแล้ว คือ การสั่งออนไลน์หรือจัดส่งถึงที่ (ดิลิเวอรี่) เพราะรัฐให้เปิดได้แต่ห้ามนั่งกินในร้าน แต่สั่งกลับบ้านได้ ร้านเล็กใหญ่ตอนนี้ที่เห็นมีป้ายหน้าร้านสั่งกลับบ้าน มาสั่งที่ร้านหรือโทรมาสั่งได้ บางแห่งสามารถสั่งได้ 24 ชั่วโมง หลายร้านไม่เคยคิดเรื่องส่งถึงบ้านแต่ตอนนี้ต้องทำ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดมุมมองธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังตอบโจทย์พฤติกรรมคนในปัจจุบัน และหลายร้านหันมาเริ่มใช้บริการสั่งซื้อออนไลน์เต็มรูปแบบ

เปิดโอกาสให้พนักงานเสิร์ฟ เด็กในร้านยังมีงานทำต่อไปได้ แม้ว่าร้านจะไม่เปิดให้ลูกค้ามากินในร้าน แต่ร้านเปิดบริการซื้อกลับบ้าน หรือจัดส่งอาหารถึงบ้าน โดยใช้พนักงานในร้านส่งอาหาร แทนที่จะให้หยุดงาน พ่อครัวยังมีงานทำ เด็กเสิร์ฟเป็นพนักงานจัดส่งอาหาร ซึ่งแรก ๆ อาจคลุกคลั่กบ้าง ไม่รู้ทางบ้าง ไม่มีรถบ้าง แต่ก็ค่อย ๆ ปรับ ซึ่งพอจะช่วยประคองการจ้างงานได้บางส่วนในช่วงยากลำบากนี้

เปิดโอกาสให้ตลาดสดหลายแห่งปรับตัวเองใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้ชีวิตของคนเมืองกรุง โดยประกาศเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดยิ่งเจริญ หรือ Foodland ทุกสาขา และอื่น ๆ นอกจากนี้ หลายกิจการโดยเฉพาะร้านขายของที่จำเป็นกับการครองชีพ เริ่มเปิดการให้บริการจัดส่ง เช่น เทสโกประกาศรับพนักงานดิลิเวอร์รี่เพิ่มกว่าสองหมื่นอัตราทั่วประเทศ

เปิดโอกาสให้คนเรียนรู้การใช้สื่อมีเดียอย่างมีศักยภาพมากขึ้น หลายคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุเริ่มเรียนรู้วีดิโอแซท คุยการลูกหลานที่กักตัวเอง หรือไม่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด หรือป้องกันตัวเองและพ่อแม่สูงอายุโดยคุยกันผ่านวีดิโอแซท หากถ้าอยู่ในเหตุการณ์ปกติคงไม่พยายามเรียนรู้ของพวกนี้ ถือว่าเป็นโอกาสให้คนแก่มีของเล่นใหม่และไม่กลัวที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ

เปิดโอกาสให้เรามีการสำรวจศักยภาพทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเราว่ามีความพร้อมในการรับมือวิกฤติทางสาธารณสุขหรือไม่อย่างไร ทั้งอุปกรณ์และบุคลากร เดิมเราไม่รู้ใครรู้เรื่องอะไรลึก ๆ ใครชำนาญอะไร เตียงในห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ วัคซีนต่าง ๆ ฯลฯ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่ได้ทั้งหมดในวิกฤติครั้งนี้ แต่ทำให้เรารู้ว่าต้องมูศูนย์กลางข้อมูลและการบริหารกลางที่สามารถสั่งการทันทีเมื่อมีวิกฤตินี้อีกครั้ง ครั้งนี้เราจะเห็นว่าหมดหลายคนออกมาให้ข้อมูล ข่าว เกี่ยวกับความสามารถศักยภาพสาธารณสุขของเราแตกต่างกัน นี่ขนาดคนในวงการเดียวกันและระดับบิ๊ก ๆ ด้วยยังไม่เชื่อกันเลย วิกฤติครั้งนี้เปิดโอกาสให้เราสังขยานาเรื่องนี้อีกสักที

เปิดโอกาสให้เราปรับวิธีคิดเกี่ยวกับสาธารณะให้ถูกต้อง การกระทำตามใจเรานั้น เราอาจมีความสุข หรือจะถูกกฎหมาย แต่ผลกระทำนั้นอาจสร้างผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคมให้กับคนหมู่มากหรือสังคมโดยรวม เพราะเราไม่เข้าใจในวินัยทางสาธารณะและต้นทุนที่เราก่อหรืออาจจะก่อให้กับสังคม เราเห็นตัวอย่างในหลายประเทศว่ามีคนเสียชีวิตจำนวนมากจากโควิด-19 เพราะบางคนไม่ยอมเสียสละความเคยชินในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้วัสแพร่ไปอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า externalities ที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี 1991 ชื่อ Ronald Coase แนะนำว่าเรื่องนี้รัฐต้องจัดการ เพราะจะให้คนแต่ละคนคำนึงถึงต้นทุนที่ตนเองก่อให้กับสังคมนั้นคงยาก ซึ่งก็จริงขนาดในบ้านเราประกาศปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่เราก็ยังเห็นคนนั่งกินในร้านอย่างไม่สนใจ หรือบ้างก็ซื้อมานั่งกินรวมกันชายหาดบ้าง นั่งดื่มกาแฟเป็นกลุ่มหน้าร้านบ้าง โดยมองว่าเป็นสิทธิตัวเอง ไม่ผิดกฏหมาย โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตนเองกำลังนำตัวเองไปสู่ความเสี่ยงในการติดโวรัส และเมื่อติดก็เป็นตัวพาหะไปติดคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วย วิธีจัดการทั่วไป ก็คือทำให้ต้นทุนสังคมนั้นรับรู้หรือแบกโดยคนทำ ต้องทำให้ต้นทุนสังคมนั้นเป็นของคนนั้นให้ได้ จึงไม่แปลกใจที่หลายแห่งจับติดคุก ปรับ ไม่นับตบตี ที่เห็นในคลิป ฯลฯ

เปิดโอกาสให้สังคมรับรู้ความเชื่อมโยงของปัญหาในภาพรวมว่า ปัญหาหนึ่งส่งผลต่อปัญหาหนึ่งและต่อตัวเราในที่สุดไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หากปัญหาใด ๆ ที่เราสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ยังเฉยเมย ละเลย อาจเป็นเพราะเราคิดว่ามีผลกับเราเล็กน้อยมากจนคิดว่าไม่จำเป็นต้องเสียแรงทำอะไร ปล่อยให้คนมีหน้าที่ทำไปคนเดียว แต่ในระบบเชื่อมโยงของสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้นซับซ้อนและใกล้ชิดกว่าอดีตมากนัก หากปัญหาขยายตัวในที่สุดผลกระทบนั้นก็จะกลับมาหาเราในที่สุด ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง และอาจเป็นปัญหาใหญ่เกินเยียวยาสำหรับตัวเราในตอนนั้นก็ได้

เปิดโอกาสให้เราทุกคนในสังคม ไม่ว่ารัฐ ภาคธุรกิจ หรือประชาชนแต่ละคน ได้ตระหนัก รับรู้ และใช้ความรู้ในการจัดการบริหารความเสี่ยง (Risk management) ในสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นว่าเหตุการณืไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ หากมองในทางวิชาการ EU ศึกษาเรื่องโรคระบาดในยุโรปว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจยุโรปอย่างไร (The macroeconomic effects of a pandemic in Europe – A model-based assessment; 2006) ศึกษาภาพมหภาค ซึ่งจะมีผลต่อ GDP 2-4% และผลกระทบค้างในระบบกว่า 2 ปี และ 0.6% ในระยะยาวเวลาผ่านแรงงาน อย่างไรก็ตามเป็นวิจัยที่ดูจากโมเดลเฉพาะสหภาพยุโรป 25 ประเทศ แต่วันนี้เจ้าโควิดนี้กระจายไปกว่า 100 ประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแม้ว่าไม่มีเคสโควิดก็ตาม แต่ผลกระทบจะผ่านการลงทุนและการส่งออกนำเข้าจะทำให้ปัญหาครั้งนี้ซับซ้อนมากกว่าโมเดลเดิมมาก

และสุดท้าย ปิดเพื่อเปิดโอกาสให้กับประเทศไทยเดินหน้าต่อ และเราทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้งโดยเร็ว