สัญญาณชีพจากจีนกะพริบบวก แต่ไทยยังน่าห่วง

24 มี.ค. 2563 | 22:50 น.

คอลัมน์: พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์

 

ฟังคำต่อคำจาก ธนิต  โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทั่วโลกยังไม่พ้นขีดอันตรายจากวิกฤติไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนอยู่ในเวลานี้ พร้อมฉายภาพปฎิกิริยาจากภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสถานะภาคบริการในประเทศไทย

-มองว่าจีนเริ่มคลี่คลายไปในทางบวก

แม้ว่าจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีประชากรเจ็บป่วยล้มตายจากไวรัสโคโรนาจำนวนมาก  แต่ก็เริ่มมองเห็นสัญญาณชีพที่เป็นบวกปรากฏขึ้นแล้วในขณะที่อีกหลายประเทศยังมองไม่เห็นทิศทางพบยอดคนตายและคนได้รับการติดเชื้อมีสถิติสูงขึ้นเป็นรายวัน

ปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย  และขณะนี้ถ้าดูจากสายการเดินเรือ จะพบว่าจีนเริ่มฟื้นมาได้ราว 40% แล้ว การเดินเรือไปกลับไทย-จีนจากภาวะปกติเคลื่อนไหวได้อาทิตย์ละ 4 ลำ  ล่าสุดเริ่มขยับจาก 2 ลำเป็น 3 ลำ  ส่วนญี่ปุ่น มาเลเซีย อาเซียน ยุโรป อเมริกา ยังปิดท่าเรือ ทำให้สินค้าที่วิ่งไปประเทศเหล่านี้ลดลง  กำลังผลิตชะลอตัว  ทำให้ผู้ผลิตยังมีการเดินการผลิตได้ไม่เต็มที่ 

-กำลังซื้อร่วงไทยประมาทไม่ได้

ย้อนกลับมามองประเทศไทยแม้เวลานี้ในภาคการผลิตยังไม่ได้ส่งสัญญาณเลิกจ้างมากนัก เพียงแต่จะมีบางบริษัท บางอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากจีน อาจทำให้สต๊อกวัตถุดิบเริ่มมีปัญหาต้องชะลอการผลิตลง  หรือบางบริษัทมีการชะลอการส่งมอบสินค้าเพราะระบบขนปิด  และจะมีบางอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีนโยบายรับคนใหม่เข้าทำงานในช่วงนี้

สัญญาณชีพจากจีนกะพริบบวก แต่ไทยยังน่าห่วง

ธนิต  โสรัตน์ 

“ถ้ามองภาพรวมทั้งหมดก็ยังประมาทไม่ได้สำหรับภาคการผลิตของไทยทั้งระบบ  เพราะอย่าลืมว่ากำลังการบริโภคภายในประเทศก็ลดลงด้วย กำลังซื้อในประเทศหายไปจำนวนมาก  หลังกรุงเทพฯและปริมณฑล มีประกาศปิดพื้นที่หรือล็อคดาวน์ในเขตกทม.และปริมณฑลและในอีกหลายจังหวัด นับแต่วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม ผ่านมา  การปิดห้างสรรพสินค้า ร้านขายอาหาร สถานบันเทิง ร้านเสริมสวย งานอีเว้นท์”

-ภาคบริการมีแรงงานนอกระบบมาก

งานในภาคบริการส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบมีประมาณ 8.4 แสนคน เช่น หมอนวดแผนโบราณประมาณ 1.0 แสนคน ร้านเสริมสวยประมาณ 1.2 แสนแห่งมีแรงงาน 3.6 แสนคน, ร้านอาหารที่จดทะเบียนจำนวน 14,413 แห่งมีแรงงานประมาณ 2.16 แสนคนและแรงงานที่ทำงานอยู่ตามบูธร้านค้าย่อยในห้างสรรพสินค้าเป็นหลักแสนคน คาดว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนอยู่ในขณะนี้

“การสั่งปิดสถานที่เสี่ยงแพร่ระบาดโรค ทำให้สถานประกอบการ สถานบริการห้างร้านต่างๆได้รับผลกระทบ เมื่อห้างสรรพสินค้าปิด สินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดขายไม่ได้ เช่น คนไม่ไปร้านทำผม ยาสระผมก็ขายไม่ได้  ปัญหาจะลากยาวไปถึงต่างจังหวัดอาจจะมากระทบต่อภาคการผลิตได้จึงต้องระวัง”

-วิกฤติรุมเร้า-คำสั่งซื้อร่วง

นายธนิตกล่าวอีกว่า  ภาคการผลิตไทยไม่ได้เจอวิกฤติจากไวรัสโคโรนาเพียงอย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้ ก็รับศึกหนักหลายด้าน ทั้งปัญหาภัยแล้ง  ผลกระทบจากเทรดวอร์จีน-อเมริกา และผลกระทบจากค่าเงิน และมาถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้คำสั่งซื้อลดลง ผู้ส่งออกจำนวนมากถูกชะลอการส่งมอบ

“หลายพื้นที่จะพบว่าความคึกคักของรถบรรทุกสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์หายไป เช่นใน นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้เดิมจะมีรถเข้า-ออกปัจจุบันน้อยลง ผู้ประกอบการมีสต๊อกสินค้ามากขึ้นขณะที่ชั่วโมงการทำงานไม่เต็มกะและลดลงกำลังการผลิตอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 64 – 65  % เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ที่มาจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นทั้งหมด”

นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือบรรยากาศในสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบังหรือ ไอซีดี ลาดกระบัง ( Inland Container Depot : ICD)ที่จะไปยังแหลมฉบังจังหวัด ชลบุรี และนำสินค้านำเข้าจากแหลมฉบังมาไว้ยัง ICD ลาดกระบังเพื่อกระจายต่อไปทั่วประเทศ หรือเรียกว่า”ท่าเรือบก”เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายประเภทขนส่งจากรถไฟไปยังรถบรรทุกและจากรถบรรทุกไปยังรถไฟ  เป็นศูนย์ขนาดใหญ่ ที่บรรยากาศในขณะนี้ไม่คึกคักเหมือนก่อน นับตั้งแต่ที่ไทยเริ่มเผชิญผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-อเมริกาลากยาวมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

“ตามปกติไอซีดี ลาดกระบัง จะมีการเคลื่อนไหวเข้าออกของตู้คอนเทนเนอร์ และการวิ่งเข้าออกของรถเทรเลอร์ ซึ่งมีทั้งตู้เปล่าและตู้นำเข้าที่มีสินค้าเต็ม  จนแทบจะเหลือตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่จำนวนไม่มากเนื่องจากสินค้าเข้า-ออกมีต่อเนื่อง  เทียบกับปัจจุบันมีตู้คอนเทนเนอร์วางกองอยู่จำนวนมาก”

สัญญาณชีพจากจีนกะพริบบวก แต่ไทยยังน่าห่วง

นายธนิตมองอีกว่าสอดคล้องกับที่ล่าสุดการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเริ่มเห็นสัญญาณการปลดคนงานโดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจบริการตามมาด้วยแรงงานในภาคค้าส่ง-ค้าปลีก มีการตัดการทำงานล่วงเวลาลดสวัสดิการและแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานจากภาคการผลิต สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นจากมาตรการล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยงเพื่อลดการแออัดซึ่งจะเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด  

 

-เสนอมาตรการเยียวยาแรงงาน

นอกจากนี้นายธนิตกล่าวอีกว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะผลกระทบจากโควิด-19จึงได้นำเสนอมาตรการเยียวยา ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาก่อนหน้านี้  เช่น ความชัดเจนกรณีประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยว่างงานจากผลกระทบโควิด-19  ,มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลของเอสเอ็มอี , มาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานนอกระบบประกันสังคม คาดว่าจากมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่มีกลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนหรือมากกว่านี้ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเยียวยาระยะเร่งด่วนด้วยการใช้เงินจากกองทุนกรณีว่างงานและปิดกิจการซึ่งครม.เคยมีมติไว้วงเงิน 20,000 ล้านบาท  

 

รวมถึงการขอความชัดเจนเกี่ยวกับการบังคับตามกฎหมายแรงงาน เช่นกรณีการกักตัวแรงงานเสี่ยง 14 วัน  กรณีที่สถานประกอบการพบการติดเชื้ออาจต้องให้ลูกจ้างกักบริเวณตัวเองอยู่ที่บ้านนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ รวมถึงแรงงานที่ทำงานอยู่กับบ้านในลักษณะ “Work At Home”  ซึ่งเวลาทำงานไม่แน่นอนจะมีมาตรการอย่างไรเพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้มีการระบุไว้ เช่น ชั่วโมงทำงาน, ค่าล่วงเวลา, การทำงานในวันหยุด รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบแรงงานที่ต้องออกจากงาน จะถือเป็นการเลิกจ้างหรือไม่เพราะเป็นการสุดวิสัยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ หากใช้มาตรา 75 ผู้ประกอบการไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง 75 % ซึ่งไม่ทราบว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเมื่อใดจากผลการประชุมของรัฐบาลเมื่อวันที่24 มีนาคมที่ผ่านมาก็มีความชัดเจนบางเรื่องออกมาแล้ว แต่บางเรื่องก็ยังไม่มีความชัดเจนยังต้องไปดูรายละเอียดกันต่อไป