คุมไวรัสโควิด-19ไม่อยู่ โรคล้างโลก..มาแน่

26 มี.ค. 2563 | 02:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3560 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค.63 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

          ผมนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการคาดการณ์การระบาดและมาตรการในระยะที่ 3 ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กรมควบคุมโรคประเมินไว้ว่า ถ้าประเทศไทยมีการควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้การระบาดเป็นไปโดยธรรมชาติของโรค การควบคุมไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น (R0) ได้อีก 2.2 คนเมื่อใด

          ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนพบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือนสิงหาคม ผู้ป่วยรวมจะสูงขึ้นประมาณ 16.7 ล้านคนใน 1 ปี

          ถ้าสามารถชะลอการระบาดได้พอสมควร มาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ มีความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน ประเทศไทยสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น (R0) ได้เพียง 1.8 คน การระบาดในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนเข้าสู่จุดที่พบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 480,000 คนต่อสัปดาห์

          ในสถานการณ์นี้ต้องลดโอกาสการสัมผัสโรคของประชาชนลง เช่น การงดกิจกรรมรวมคน การกักกันเพื่อสังเกตอาการของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด

          หลายคนไม่ค่อยเชื่อ มีการตั้งคำถามว่าใช้ข้อสมมติฐานอะไร มองในแง่ร้ายเกินไป...ผมขอบอกว่าเราไม่เห็นโรงศพไม่หลั่งน้ำตา

 

          ล่าสุดวันที่ 23 มีนาคม ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทย์ ได้ออกมาคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านช่อง IPTV Mahidol University ว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีคนไข้เข้ามาตรวจไวรัสโควิด-19 จากที่นิ่งๆ พบไม่มาก มากระโดด เมื่อเจอติดเชื้อที่ผับและที่สนามมวย ขณะที่โลกแบ่งประเทศการระบาดโควิด-19 เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คุมไม่อยู่ จะอยู่ทางประเทศยุโรป กับกลุ่มที่คุมอยู่ คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

          ส่วนประเทศไทยจัดอยู่กลุ่มใด ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยกราฟไปคล้ายกับประเทศเยอรมนี หมายความว่า ถ้าเราไม่ทำอะไร คาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นจะเหมือนกับประเทศที่คุมไม่อยู่ แต่ละวันจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 33%

          “วันนี้โอกาสที่ไทยจะสามารถคุมได้แบบญี่ปุ่นยากแล้ว เราเริ่มต้นช้า 3-4 วันมานี้ เราได้ตัวเลขนี้จริงๆ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่ช่วยกันตัวเลขภายใน 15 เมษายน เราจะพบผู้ป่วยติดเชื้อ 351,948 ราย หากช่วยกันและทำได้สำเร็จ ดึงตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาเหลือ 20% ได้ ไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตัวเลขอยู่ที่ 24,269 ราย”

          ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากคนไทยยังปฏิบัติแบบเดิม ยังออกจากบ้าน ยังใช้ชีวิตพูดคุย เจอกัน ทำงานแบบที่ทำในเวลานี้ พอถึงวันที่ 15 เมษายน คาดว่าคนไทยเป็นโควิด 351,948 ราย นอนโรงพยาบาล 52,792 ราย นอนไอซียู 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 คน

          แต่หากทุกคนอยู่บ้าน คาดว่าพอถึงวันที่ 15 เมษายน คนไทยเป็นโควิด 24,269 ราย นอนโรงพยาบาล 3,640 ราย นอนไอซียู 1,213 ราย และเสียชีวิต 485 คน

          “เราไม่อยากเห็นภาพที่เกิดขึ้นที่อิตาลี คนไข้ทะลักเข้าโรงพยาบาลจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาลหากไทยปล่อยให้คนไข้หนักเกิน 17,597 ราย จะเกินศักยภาพโรงพยาบาลรับได้”

          คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ไวรัสโควิดเมื่อเข้าสู่ร่างกาย สิ่งที่ทำลายตั้งแต่ต้น และคุมไม่อยู่ มันจะไปทำลายปอด หลายคนคงเห็นมีคนจำนวนหนึ่งเดินมาเหมือนไม่มีอาการ แต่มาตรวจเจอโควิด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เริ่มทำลายปอดแล้ว หมายความว่า มีคนไข้ที่ไม่รู้ตัวเอง แต่ไวรัสได้แทรกไปอยู่ในเนื้อปอด ทำลายเนื้อปอดเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง จะมีอาการมากขึ้น คนไข้อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้เครื่องช่วยการทำงานของปอดและหัวใจ ถ้ามาถึงตรงนี้จะเกิดเหตุการณ์แบบอิตาลี ต้องเลือกจะรักษาใคร

 

          “หากเราไม่ช่วยกันวันนี้ ขยายเตียงเท่าไหร่ก็รับไม่ไหว” เป็นงัยละ...ข้อสันนิษฐานแรกกับข้อสันนิษฐานของหมอประเสริฐไม่ได้แตกต่างกันมากนักในเรื่องของการระบาดของโรค

          คำถามดังๆ คือ รัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนไทยปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

          ข้อเสนอของกรมควบคุมโรคคือ ต้องมีการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล วิธีการคือจัดให้มีคลินิกโรคทางเดินหายใจในโรงพยาบาล โดยแยกบริการการตรวจรักษากลุ่มเสี่ยงสูงไปยังสถานที่หรือวันเฉพาะที่ไม่ตรงกับผู้ป่วยทั่วไป

          ให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด หากบุคลากรมีอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจต้องหยุดงานทันที และตรวจหาสาเหตุของอาการป่วย

          เร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล (PPE) ภายในจังหวัดให้เพียงพอ โดยจัดให้มี safety stock ไม่น้อยกว่า 3 เดือน

          นอกจากนี้ต้องเตรียมการเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ต้องจัดให้มีห้องปฏิบัติการ เพื่อการวินิจฉัยในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          ต้องจัด Cohort ward และหอดูแลผู้ป่วยหนักเฉพาะโรค COVID-19 สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง

          จัดระบบให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ และมีความเสี่ยงต่ำที่จะไปแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยมีการติดตามอาการและการป้องกันการแพร่โรคที่เหมาะสม

          จัดโรงพยาบาลเฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง เช่น มีปอดอักเสบแต่ไม่รุนแรง โดยอาจกำหนดเป็นอาคารเฉพาะ หรือโรงพยาบาลเฉพาะ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ทั้งนี้ควรมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอื่นๆ ออก

          จัดจุดรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก นอกโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ที่สำคัญต้องบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลสังกัดต่างๆ เพื่อให้สามารถกระจายและจัดการทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม

          ที่สำคัญรัฐบาลต้องสำรองยาต้านไวรัสอย่างเพียงพอ และต้องมีแผนการส่งบุคลากรจากสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อให้มีการผลัดเปลี่ยนกันไปช่วยตรวจรักษา ยังโรงพยาบาลเฉพาะ หรือจุดรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก

          นอกจากนี้ รัฐบาลต้องหามาตรการในการลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ ต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หาวิธีการชดเชยเยียวยาการขาดงานให้กับผู้ป่วยและผู้ที่ถูกแยกกักอย่างเหมาะสม จัดการเรียนการสอนเสริมในภายหลังในกรณีที่มีการปิดโรงเรียน

          ต้องเยียวยาภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบและแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดทำแผนประคองกิจการ และกำลังคนสำรอง หากมีการขาดงานหรือบุคลากรป่วยจำนวนมาก

          รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อชะลอและควบคุมการระบาดให้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และความร่วมมือจากประชาชนอย่างจริงจัง

          จะต้องมีมาตรการลดผลกระทบจากการดำเนินการควบคุมโรคต่างๆ ด้วย เช่น การชดเชยรายได้ แผนประคองกิจการของทุกภาคส่วน และการรักษาระบบบริการสำหรับประชาชน เช่น สาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งควรมีการพิจารณาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบคอบ

          มิเช่นนั้นโรคล้างโลกจะระบาดใส่ผู้คน เกินกว่าที่ทุกคนจะจินตนาการได้!