สู้-อดทน-ปรับโลกทัศน์ รับโลกหลังโควิด-19

25 มี.ค. 2563 | 09:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3560 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 26-28 มี.ค.2563

 

          โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกก็ประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เพราะนอกจากแพร่ระบาดไปนอกเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนแล้ว ก็ยังระบาดไปทั่วจีน และทั่วโลกมากกว่า 196 ประเทศ จนมีจำนวนสะสมของผู้ป่วยมากกว่า 381,000 คน และผู้เสียชีวิตแล้ว 16,556 คน โลกยังสิ้นหวังและมืดมนในการต่อสู้กับไวรัสปิศาจตัวนี้

          จากตะวันออกสู่ตะวันตก ไม่มีประเทศใดหนีพ้นโรคร้ายนี้ ในภูมิภาคยุโรปเผชิญกับภาวะที่น่าวิตกโดยเฉพาะในอิตาลีที่มียอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน แต่ละประเทศใช้มาตรการสู้โรคที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ปล่อยให้ระบาดให้คนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน บางประเทศประกาศล็อกดาวน์ปิดประเทศ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักวิชาการ ร่วมมือระดมสมองกันอย่างหนักในการคิดค้นวัคซีน ยาต้าน ยารักษาในการต่อสู้เพื่อเอาชนะไวรัสตัวนี้

          สถานการณ์ในไทยเอง กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์วันที่ 24 มีนาคม​ 2563 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 106 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 827 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 3 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 4 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 57 ราย โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว มีการประมาณการมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3 แสนราย เกิดขีดความสามารถของแพทย์ พยาบาลในการรองรับ หากคนไทยยังใช้ชีวิตเป็นปกติโดยไม่ตระหนักพิษภัยโควิด-19 และไม่ประสานพลังรวมน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกับทีมแพทย์และทางการในการขอความร่วมมือให้ ละ เลิก พฤติกรรมที่เคยชิน ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้

 

          ล่าสุดรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นในการควบคุม กำกับดูแลสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ซึ่งมาตรการจะกำหนดออกมาจากศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะตั้งขึ้น ทั้งในแง่ข้อมูลข่าวสารที่จะส่งถึงประชาชน การจำกัดควบคุมการเดินทางของคน การปิดสถานประกอบการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน งดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน แต่การขอความร่วมมือ รณรงค์ ไม่ได้ผลอย่างมีนัยสำคัญสำหรับคนไทย จึงต้องใช้มาตรการกึ่งบังคับ บังคับและกฎหมายในการเข้มงวด

          สถานการณ์แบบนี้แทบไม่เคยมีใครประสบมาก่อน ในรอบศตวรรษนี้ จะมีเพียงแค่โรคระบาดอย่างซาร์ส เมอร์ส ที่ควบคุมได้ในเวลาอันสั้น หนทางเดียวที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้ได้ ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง มีความอดทนและมีวินัย อดทนที่จะต้องถูกจำกัดหลายสิ่งหลายอย่าง พร้อมกับต้องปรับพฤติกรรมทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน ปรับโลกทัศน์ใหม่ เพราะการมาของโรคจะนำสังคมไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่หรือการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น การเอาตัวรอดจำต้องคำนึงถึงจุดนี้ให้มากขึ้น โลกหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป