เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"

24 มี.ค. 2563 | 22:00 น.

รายงานพิเศษ : เทียบ3ศูนย์ฉุกเฉิน จาก ศอฉ.53 ถึง ศอฉ.โควิด

“ได้มีกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง อันเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จนทําให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อําเภอบางพลี อําเภอพระประแดง อําเภอบางบ่อ อําเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อําเภอธัญบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อําเภอลําลูกกา อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอําเภอวังน้อย อําเภอบางปะอิน อําเภอบางไทร อําเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”


เป็นหนึ่งในข้อความของการระบุเหตุผลในการ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” จากการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตาม “พระราชกำหนดการบริการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปี 2553  ที่ต้องบริหารประเทศ ท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลจนไม่เป็นอันต้องบริหารราชการแผ่นดิน 

เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"
หนึ่งในโมเดลของการรับมือตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่ตั้งอยู่ใน “กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์”  เป็นหน่วยงานพิเศษ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงขณะนั้น เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ มี พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศขณะนั้น) และดร.ปณิธาน วัฒนายากร เป็นโฆษกศูนย์ ที่ช่วยกันแถลงข่าวในมิติของการเมืองและการทหาร 

เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"
จากนั้น 21 ธันวาคม 2553 ครม.รีมีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว “ศอฉ.” จึงสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ และได้มีการสั่งการให้โอนย้ายงานที่ยังค้างคาอยู่ไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่หลายฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการการเมือง รวมทั้งหน่วยงานพิเศษเช่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ครั้งต่อมาในช่วงปลายของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ต้องรับมือกับการชุมนุมขับไล่ของกลุ่ม กปปส. นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” 
21 มกราคม พ.ศ. 2557 ยิ่งลักษณ์ ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2557 เรื่อง “การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ” ระบุเหตุผลว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้การดําเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ”

เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"

จึงใช้อำนาจพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 และครม.จึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) โดยมี “เฉลิม อยู่บำรุง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อํานวยการ โดยมีผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนจากทุกเหล่าทัพและหลายหน่วยงานเป็นกรรมการ 


จากนั้นก็มีประกาศฉบับแรกภายใต้ศูนย์ฯ เรื่อง “ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ และห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ”  ที่มีการกำหนดห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ  และข้อห้ามเกี่ยวกับยานพาหนะ และประกาศฉบับอื่นๆตามมาอีกหลายฉบับ 

เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"

แต่ด้วยความที่กลุ่มกปปส. ใช้รูปแบบการชุมนุมแบบดาวกระจาย ตามไปทุกที่ที่ “ยิ่งลักษณ์ ไปทำงาน ศูนย์ดังกล่าวจึงต้องย้ายที่ตั้งหลายครั้ง สุดท้ายต้องย้ายมาที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายในพื้นที่เมืองทองธานี เป็นจุดที่มั่นสุดท้าย 

26 มีนาคม 2563 จึงเป็นอีกครั้ง ที่นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ใช้ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการชุมนุมของกลุ่มการเมือง แต่เป็นการตั้ง “ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน” ในการควบคุมโรคระบาด ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ เรียกว่า ศูนย์ศอฉ.โควิด  ที่ตั้งศูนย์อยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล 

เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"

เมื่อเทียบความเหมือนที่แตกต่างศูนย์ในภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลประยุทธ์ กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ และยิ่งลักษณ์ คือ การเพิ่มคณะกรรมการที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าการตั้งศูนย์ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากกว่าทุกครั้ง เพื่อหยุดยั้งการระบาดในครั้งนี้

แต่ทว่า สิ่งที่ไม่น่าเชื่อ จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญก็ว่าได้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกศอฉ. กำลังจะเป็นคีแมนย์ในการสื่อสารของศูนย์โควิด ในฐานะอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนปัจจุบัน พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยคนปัจจุบัน ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก หัวเรือใหญ่ในศูนย์ศอฉ.ร่วมภารกิจในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เคียงคู่กับสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยังคงอยู่ในศูนย์โควิด

เทียบ 3 ศูนย์ฉุกเฉิน จาก "ศอฉ.53" ถึง "ศอฉ.โควิด"
และแม้กระทั่ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ผ่านมาแล้วแทบทุกศูนย์ รวมทั้ง บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ เอง ก็เคยมีประสบการณ์ ร่วมในภารกิจของศอฉ. ณ ราบ11 ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบก เคียงข้างพลเอกอนุพงษ์ และได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในยุคของยิ่งลักษณ์…