ครบกำหนดวันแรงงาน ยื่นอุทธรณ์วันถัดไปได้หรือไม่? 

26 มี.ค. 2563 | 08:15 น.

 

คอลัมน์ อุทาหรณ์ จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 22-28 มีนาคม 2563

 

ไม่ว่าจะเป็นการยื่นฟ้องคดี การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ก็ล้วนมีระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น ซึ่งหากกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดไม่พอใจในผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ก็สามารถคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภาย ในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง (มาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง .. 2542)

หรือในกรณีที่ไม่พอใจคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือคำสั่งอื่นซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ระหว่างพิจารณา ผู้มีส่วนได้เสียก็มีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (ข้อ 49/1 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง .. 2543)

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการยื่นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ก็มีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (ข้อ 105 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบเดียวกัน)


 

เรื่องน่ารู้วันนี้... มีประเด็นที่น่าสนใจว่า หากวันสุดท้ายของการยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้นตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ เช่นนี้... จะยื่นอุทธรณ์ในวันถัดไปอีก 1 วัน ได้หรือไม่? เช่นกรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 และผู้อุทธรณ์ได้รับทราบคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 หากผู้อุทธรณ์ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์

จะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์ คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน  30 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2562 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562

แต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562  เป็นวันแรงงานแห่งชาติ มิได้เป็นวันหยุดทำการของศาลปกครองหรือเป็นวันหยุดตามประเพณีของส่วนราชการ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุที่จะทำให้ระยะเวลาการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวขยายออกไปอีก 1 วัน ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้อุทธรณ์จึงต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 อีกทั้งในวันดังกล่าว บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังคงเปิดให้บริการในไปรษณีย์ จังหวัดทุกแห่ง ซึ่งหากประสงค์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ที่ทำการไปรษณีย์ ก็ชอบที่จะยื่นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ได้

ดังนั้น การที่ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562  จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามข้อ 105 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง .. 2543  ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้อุทธรณ์ไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ. 222/2562)

จากคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ ศาลได้วางหลักทั้งในเรื่องการยื่นฟ้องคดีและการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยสรุปได้ว่า... ไม่ว่าจะเป็นการยื่นด้วยตนเอง ที่ทำการศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา แต่กรณีที่วันสุดท้ายตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมิใช่วันหยุดราชการตามประเพณี อีกทั้ง ยังเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ และไปรษณีย์ก็เปิดให้บริการ จะไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ระยะเวลาขยายออกไปอีก 1 วัน ดังเช่นกรณีทั่วไปตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ครับ !!