รับมือโควิดระยะ 3

21 มี.ค. 2563 | 08:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3559 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-25 มี.ค.63

 

 

          แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 ก็ตาม แต่มาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และเตรียมความพร้อมที่คณะรัฐมนตรีประกาศออกมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา หากพิจารณาตามแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เสนอโดยศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นการรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 แล้ว

          แผนการรับมือไวรัสโควิด-19 ระยะ 3 ดังกล่าวได้กำหนดไว้ 3 เป้าหมาย เป้าหมายแรก ต้องการลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทยและชะลอการระบาด เช่น มีมาตรการระดับบุคคล เช่น ให้เลี่ยงหรืองดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่พบการระบาดทั้งในและต่างประเทศ หรือห้ามชาวต่างชาติ เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค

          มีมาตรการระดับสังคม เช่น ให้เลื่อน หรือยกเลิกกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ได้แก่ การประชุมสัมมนา งานกีฬา งานแสดงสินค้า งานแฟร์ต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี เช่น สงกรานต์ อุปสมบทหมู่ หรือห้ามผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำคนไทยไปเที่ยวยังประเทศที่มีการระบาด และหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามพื้นที่ สถานที่ทำงาน ให้มีมาตรการให้บุคลากรของสถานที่ที่พบการระบาดสามารถทำงานจากบ้านได้ เป็นต้น

 

          เป้าหมายที่ 2 ให้คนไทยปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น มีมาตรการรองรับผู้ป่วยจำนวนมากจัด Cohort ward และหอดูแลผู้ป่วยหนักเฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง จัดโรงพยาบาลเฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง เช่น มีปอดอักเสบแต่ไม่รุนแรง โดยอาจกำหนดเป็นอาคารเฉพาะ หรือทั้งโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย

          เป้าหมายที่ 3 ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ เช่น มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีการชดเชยการขาดงานให้ผู้ที่ถูกแยกกัก มีการจัดการเรียนการสอนเสริมในภายหลังในกรณีที่มีการปิดโรงเรียน มีการเยียวยาภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบและแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

          มาตรการรักษาระบบบริการประชาชน หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ทำแผนประคองกิจการ และกำลังคนสำรองหากมีการขาดงานหรือบุคลากรป่วยจำนวนมาก ทุกหน่วยงานลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในองค์กร เช่น งดการประชุมสัมมนา ทัศนศึกษา จัดสิ่งแวดล้อมของบริการขนส่งสาธารณะให้สามารถป้องกันการแพร่โรค ทั้งที่สถานีและยานพาหนะ เช่น การทำความสะอาด การคัดกรองผู้โดยสาร

          สรุปโดยรวมมาตรการรับมือไวรัสโควิด-19 ระยะ 3 จะเน้นที่การชะลอการระบาด ลดผลกระทบ รักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ โดยคงไว้ซึ่งระบบบริการประชาชน เช่น สถานพยาบาล สาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งหมด 9 มาตรการหลักใน 30 กิจกรรมสำคัญ มี 11 กระทรวงรับผิดชอบ ซึ่งมาตรการหยุดยั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะได้ผลหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นกับทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติ และมีวินัย รับผิดชอบสังคมร่วมกัน