“Thai First” ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็กไทย

16 มี.ค. 2563 | 10:01 น.

 

“Thai First”  ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็กไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2563 ผมได้รับเชิญจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย 7 สมาคม ให้บรรยายเรื่อง “ผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กต่อเศรษฐกิจไทย” ณ โรงแรมสุโกศล จัดโดยกระทรวงคมนาคมร่วมกับ 7 สมาคมเหล็ก มีรองปลัดกระทรวงคมนาคม (นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน) เป็นประธานสัมมนา มีหน่วยงานราชการและเอกชนร่วมกว่า 100 คน

 

คำว่า “Thai First” เป็นคำที่ตรงกับยุคสมัยมาก เพราะขณะนี้โยบายของประเทศต่าง ๆ เน้นการสนับสนุนการใช้อุตสาหกรรมภายในประเทศ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ส่วนหนึ่งจากนโยบาย “America First” ที่เน้นการใช้วัตถุดิบและอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่วนจีนมีนโยบาย “Made in China” ให้จีนเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโลกใช้เทคโนโลยี่และวัตถุดิบในประเทศ อินเดียมีนโยบาย “Make in India” เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

 

สำหรับ “Thai First” เป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) สโลแกน “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” ส่วนตัวผมอยากให้เป็น “นโยบายของชาติ” ด้วยซ้ำไป ยิ่งตอนนี้เรากำลังประสบปัญหา “COVID-19” ต้องกินใช้กันเองในประเทศ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการลงทุนก่อสร้างอีกหลายโครงการใหญ่โดยเฉพาะ “รถไฟความเร็วสูง 6 เส้นทาง” คือเส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เส้นนครราชสีมา-หนองคาย เส้นเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เส้นอู่ตะเภา-ระยอง เส้นกรุงเทพ- เชียงใหม่ และเส้นกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ รวม 2,505 กม. วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท

“Thai First”  ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็กไทย

 

ภายในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แบบนี้ ถ้าประเทศไทยไม่ส่งเสริม ไม่ผลักดัน และไม่สนับสนุนการใช้วัตถุดิบและอุตสาหกรรมภายในประเทศ ธุรกิจในประเทศไทย “เจ๊งหมดแน่ ๆ” เพราะต้องนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศอีกมากมาย

 

ผมขอยกตัวอย่างกรณี “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ตัวเลขของคุณวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กฯ รายงานว่าในแต่ละปีไทยมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมูลค่ามากมายมหาศาล ปี 2562 ไทยต้องการใช้เหล็ก 18.5 ล้านตัน มูลค่า 4 แสนล้านบาท แต่มีการใช้สินค้าไทยเพียง 7.6 ล้านตัน ทำให้ต้องนำเข้า 12.2 ล้านตัน มูลค่า 3 แสนล้านบาท

“Thai First”  ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็กไทย

 

ลองนึกนะครับถ้าเราสามารถลดการนำเข้าได้ ประเทศไทยจะประหยัดเงินของชาติไปได้มากมายมหาศาล ช่วยสร้างงานภายในประเทศได้อีกหลายหมื่นคน ปัจจุบันศักยภาพการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กไทยใช้ต่ำกว่าที่มี (วัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิต) ผมคิดว่าอาจจะต่ำสุดในกลุ่ม “อาเซียนเก่า” ปี 2562 ไทยอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียง 32% (เป็นอัตราการใช้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง) เวียดนาม 69% และอินโดนีเซีย 70% เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

 

“Thai First”  ทางรอดอุตสาหกรรมเหล็กไทย

 

ผมขอเสนอดังนี้ครับ 1.ตั้งเป้าการใช้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กให้ “เกิน 70% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า” 2.กำหนดการใช้เหล็กและเหล็กกล้าภายในประเทศ (Local Content) เป็น 90% ในโครงการของภาครัฐฯ แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เรื่อง “หลักเกณฑ์การใช้พัสดุที่ผลิตภายในประเทศ” สาระสำคัญคือให้ใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศอย่างเคร่งครัด ถ้าไม่มีพัสดุที่ผลิตในประเทศ ให้จัดหาตามหลักเกณฑ์ปกติได้ แต่ในความจริงกรณีเหล็กไทยผู้ประกอบการไทยสามารถรองรับโครงการภาครัฐฯ ได้อย่างเพียงพอ (อ้างอิงจากเอกสารการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อศึกษาแนวทางการใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศกับโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2563) มตินี้ไม่ได้กำหนดการใช้วัสดุภายในประเทศ ผมเห็นว่า “ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ากี่เปอร์เซ็นต์”

 

3.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้กำหนดวัสดุเหล็กจากต่างประเทศต้องมี “มอก.” ซึ่งมีทั้งข้อดีและเสีย ในแง่การควบคุมคุณภาพมาตรฐานดีแน่ แต่เป็นการเปิดให้ “มีการนำเข้าเหล็ก” มามากขึ้น  4.ต้องเพิ่มขอกำหนดว่า “ผู้ประกอบการไทยมีแต้มต่อในแง่ผลดีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน” ในโครงการลงทุนของภาครัฐฯ

 

5.ด้วยปริมาณการผลิตที่มากของจีนทำให้ “ราคาเหล็กของจีนและเวียดนามถูกกว่าไทย” รวมถึงมีการสนับสนุนที่ไม่ธรรมจากรัฐบาลจีน หากไม่มีข้อกำหนดอื่นๆ เหล็กไทยสู้ไม่ได้แน่นอน 6.ศึกษาและวิเคราะห์ว่าทำไมประเทศต่างๆ สามารถกำหนด Local Content อย่างชัดเจน ได้ เช่น สหรัฐฯ 95% อินเดีย 50% เป็นต้น  ดูกันต่อไปว่า “Thai First” จะช่วยอุตสาหกรรมไทยให้รอดหรือไม่ครับ