2 เจ้าสัวเปิดศึกซื้อกิจการ 'เจริญ' พ่าย 'ธนินท์'

14 มี.ค. 2563 | 11:15 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3557 หน้า 8 ระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          การประมูลซื้อห้างเทสโก้โลตัสยักษ์ใหญ่ค้าปลีกในไทยและมาเลเซียมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท ถือเป็น “ปฐมบท” ของการเปิดศึกการซื้อกิจการแบบไม่มีใครยอมใครของ 2 เจ้าสัวผู้ยิ่งใหญ่” ที่ใครๆ รู้จักดี นักเลงเรียกพี่ นักการเมืองเรียกท่านเจ้าสัว

          นั่นคือ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวย กับ เจ้าสัวใหญ่ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี มหาเศรษฐีของไทย

          ในประวัติศาสตร์การทำธุรกิจของไทย ไม่เคยปรากฏว่า “เจ้าสัวใหญ่-เจ้าสัวรอง” จะลงสนามแข่งแย่งซื้อกิจการในเวทีเดียวกันมาก่อนเลยแม้สักครั้งเดียว

          2 เจ้าสัวผู้มีทรัพย์สินที่แข่งกันมาตลอดต่อเนื่องในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาจนเรียกได้ว่า “ไล่บี้เบียดกันครองแชมป์ผู้มีทรัพย์สินมากที่สุด” ไม่เคยปรากฏกายในเวทีการซื้อกิจการเพื่อต่อยอดเวทีเดียวกัน เพราะให้เกียรติกัน

          แต่ “ห้างเทสโก้โลตัส” เป็นสนามและกิจการเดียวที่ “เจริญ” ประกาศสู้กับ “เจ้าสัวใหญ่ธนินท์” แต่เจ้าสัวเจริญกลับพ่ายแพ้ในเรื่องราคาที่เสนอซื้อไปให้เจ้าสัวใหญ่ธนินท์แบบฉิวเฉียดปลายจมูก

          ข้อมูลของที่ปรึกษาการเงินรายหนึ่งบอกผมมาว่า การแข่งขันของ 2 เจ้าสัวในการซื้อกิจการรอบนี้ไม่มีใครยอมใคร

          กลุ่มเจ้าสัวเจริญเสนอราคาซื้อไป 10,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวธนินท์เสนอราคาไป 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเท่ากับ 338,445 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลเสนอราคาไปประมาณ 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจึงหลุดไปจากวงจร

 

          กลุ่มซีพี ซึ่งมีธุรกิจค้าปลีก 7-eleven ของ CPALL มีกิจการซีพีเฟรชมาร์ท และ Cash & Carry ของ MAKRO จึงได้เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ซึ่งมีไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา, ตลาดโลตัส 179 สาขา และ Tesco Express 1,574 สาขา และเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา รวม 2,158 สาขา

          ซึ่งในปี 2562 บริษัทเอก-ชัย ผู้ดำเนินธุรกิจของเทสโก้ โลตัส มีรายได้ 188,628 ล้านบาท

          ขณะที่ เทสโก้ ประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา, ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา, ร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา รวม 68 สาขา และมีธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา ปรากฏว่า ในปี 2562 เทสโก้มาเลเซียมีรายได้ 33,551 ล้านบาท

          นี่คือสิทธิการครอบครองที่กลุ่มซีพีได้ไป

          ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญเจ้าของอาณาจักร TCCตอนนี้มีธุรกิจค้าปลีก BIGC ของ BJC อยู่ในการดูแล พ่ายศึกไปแบบฉิวเฉียด เส้นยาแดงผ่าแปดเท่านั้น...

          แผนยึดพื้นที่การค้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเซีย ของ 2 มหาเศรษฐีเมืองไทย “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” แห่งไทยเบฟ กับ “เจ้าสัวใหญ่-ธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลายเป็นกรณีที่ชวนศึกษาและหาคำตอบในเชิงธุรกิจอย่างยิ่ง

          ในระยะหลายปี 2 เจ้าสัวผู้ยิ่งใหญ่ เบ่งบารมีในการซื้อกิจการแข่งกันอย่างหนักหน่วง และเป็นการ “ซื้อเพื่อต่อยอดอาณาจักรทางธุรกิจ” ที่ใหญ่ไม่แพ้กัน

          ผมพามาดูเรื่องราวการแข่งขันกัน เริ่มจากเจ้าสัวเจริญ แห่งทีซีซี กรุ๊ป เดินเกมซื้อกิจการบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเอเชียได้สำเร็จ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556

          ปฏิบัติการซื้อรอบนี้ในตลาดทุนเขาถือเป็น “ดีลแห่งอาเซียน” ด้วยมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท รอบนั้นเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ขับเคี่ยวกันถึงพริกถึงขิงกับเบียร์อันดับ 3 ของโลกอย่างไฮเนเก้น

          แต่ท้ายสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ จำกัด (มหาชน) (เอฟแอนด์เอ็น) ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ระบุว่า เอฟแอนด์เอ็นได้รับการรับรองจากผู้เสนอซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็น จากกลุ่มของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย Dato Jorgen Bornhoft, ปราโมทย์ พรประภา, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารดีบีเอส และ บริษัท มอร์แกนสแตนเลย์จัดการลงทุน ในการรับซื้อหุ้น โดยรวบรวมได้กว่า 497 ล้านหุ้น หรือประมาณ 34.50%

 

          เมื่อรวมกับหุ้นที่กลุ่มของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ, และบริษัททีซีซีแอสเซ็ทส์ ถือครองมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้กลุ่มเจริญซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นไปได้แล้วกว่า 1,190 ล้านหุ้น คิดเป็น 82.59% ของทุนทั้งหมด

          F&N คือใคร บริษัทนี้เป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นมในสิงคโปร์, มาเลเซีย และไทย และมีเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งเช่น เวียดนาม และเมียนมา โดย F&N มีหุ้น 55% ในบริษัท Myanmar Brewery Ltd ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ผลิต Myanmar Beer เบียร์ที่ขายดีที่สุดของพม่า

          F&N เป็นผู้นำในตลาดน้ำอัดลมของสิงคโปร์และมาเลเซียมีส่วนแบ่งตลาด 24.5 และ 26.9% ตามลำดับ

          F&N ทำธุรกิจบริหารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หลายพันแห่งตามเมืองต่างๆ อาทิ ลอนดอน, ปารีส และดูไบ อสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมไปถึงห้างค้าปลีก, อาคารสำนักงาน, ศูนย์ธุรกิจไฮเทคในสิงคโปร์, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

          เจ้าสัวเจริญเข้าเทกโอเวอร์ F&N ทำให้เขาได้ครอบครองพอร์ตลงทุน อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

          บริษัทเฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด ซึ่งอยู่ในเครือของ F&N มีพอร์ตลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย, เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์, การบริหารกองทุน และอสังหาริมทรัพย์

          F&N มีบริษัท เฟรเซอร์ เซ็นเตอร์พอยท์ เป็นผู้ประกอบการห้างค้าปลีก 9 แห่งในสิงคโปร์ รวมถึง เดอะเซ็นเตอร์พอยท์ ที่ตั้งอยู่บนถนนออร์ชาร์ด แหล่งช็อปปิ้งชั้นนำของสิงคโปร์

          ในเดือนเดียวกันของปี 2556 เจ้าสัวธนินท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เศรษฐีอันดับ 1 ของไทย เดินเกมไม่ต่างกัน ประกาศความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้นธนาคารเอชเอสบีซี ในสัดส่วน 15.57% ที่ถืออยู่ในบริษัทผิงอัน อินชัวรันซ์ บริษัทประกันรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ด้วยมูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 287,966 ล้านบาท

          การซื้อกิจการรอบนี้ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นการซื้อหุ้นของทุนข้ามชาติครั้งใหญ่ที่สุดในจีน! เห็นมั้ยว่า ไม่มีใครยอมใคร

          ผิงอันไม่เพียงเป็นพี่เบิ้มธุรกิจประกันในจีน แต่ยังติดอันดับโลก โดยในปี 2555 มีรายชื่อติดอันดับ 100 จากการจัดอันดับ 2,000 บริษัทชั้นนำทั่วโลกของนิตยสารฟอร์บส์

          เกมต่อมา เจ้าสัวธนินท์ใช้เวลาตัดสินใจ 10 วัน ทุ่มเงินเป็นจำนวนมาก 188,880 ล้านบาท กับการซื้อกิจการในไทยที่ใหญ่ที่สุดเมื่อซีพีส่งบริษัทลูกอย่าง บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศในชื่อ เซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อเข้าซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ในธุรกิจค้าส่ง ศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภค และบริโภค แบบชำระด้วยเงินสดและบริการตนเอง หรือ Cash& Carry จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เนเธอร์แลนด์ 64.35% คิดเป็นมูลค่า 121,536 ล้านบาท

          และทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของบริษัทในราคา 787 บาท/หุ้น จากผู้ถือหุ้นรายอื่นอีก 85,570,500 หุ้น วงเงิน 67,344 ล้านบาท รวม 2 ชุดนี้เจ้าสัวซื้อไป 188,880 ล้านบาท ลงนามกันในวันที่ 23 เมษายน 2556

          การซื้อ ผิงอัน และ แม็คโคร แค่ 2 รายการ เจ้าสัวใหญ่ธนินท์ใช้เงินไป “475,966 ล้านบาท” แซงหน้าเจ้าสัวเจริญที่ซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็นในสิงคโปร์ไปแล้ว

          วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 เจ้าสัวเจริญขยายอาณาจักรค้าปลีกอีกรอบคราวนี้ซื้อหุ้นบิ๊กซีห้างสรรพสินค้าดังในไทยจากกลุ่มคาสิโน กรุ๊ป กลุ่มบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของฝรั่งเศส คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 122,400 ล้านบาท

          รอบนี้เจ้าสัวเจริญแข่งกับเจ้าสัวเซ็นทรัลที่ยื่นเสนอราคาซื้อไปเช่นกันในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นบิ๊กซีเดิม แต่ราคาที่กลุ่มเซ็นทรัลเสนอไปเฉียดๆ 2,900 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

          เห็นมั้ยว่าในประวัติศาสตร์เจ้าสัวเจริญและเจ้าสัวใหญ่ธนินท์ไม่เคยลงสนามสู้ในเวทีเดียวกันมาเลย แต่รอบนี้สู้เวทีเดียวกันและเจ้าสัวเจริญพ่ายศึกนี้ 

          คุณคิดว่า เจ้าสัวจะลงสู้กันในสนาม 2 หรือไม่?