ช้างชนกัน หญ้าแพรกตายเรียบ

15 มี.ค. 2563 | 00:45 น.

 

รัสเซียออกประกาศท้าชนซาอุดีอาระเบีย ที่จะเดินหน้าผลิตน้ำมันต่อไปไม่ว่าราคาจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม หลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย ประกาศสงครามราคาไปก่อนหน้านี้ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผลิตน้ำมัน หลังความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง จากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่นอกประเทศจีน

นอกจากนี้กระทรวงการคลังรัสเซียยังออกมาย้ำอีกว่า ด้วยราคาน้ำมันที่ 25-30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทางรัสเซียจะยังสามารถรักษางบประมาณประเทศและอยู่รอดไปได้อีก 6-10 ปี ด้วยต้นทุนการผลิตน้ำมัน 15-20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ซาอุดีอาระเบียมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5-9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

การประกาศสงครามราคาของ 2 ประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยซาอุดี อาระเบียผลิตอยู่ที่ราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 12.1% ของการผลิตน้ำมันทั้งโลก และรัสเซียผลิตอยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 13.7%

ช้างชนกัน  หญ้าแพรกตายเรียบ

เมื่อช้างสาร 2 ประเทศชนกันผู้ผลิตน้ำมันรายเล็กๆ อย่างไทยเองย่อมไม่มีทางสู้ได้ ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และปริมาณการผลิตน้ำมันต่อหลุมได้ราว 22 บาร์เรล กว่าจะได้ปริมาณน้ำมันดิบขึ้นมา 1.4 แสนบาร์เรลต่อวัน ต้องใช้จำนวนผลิตกว่า 6 พันหลุม เทียบกับรัสเซียที่มีหลุมผลิตเพียงกว่า 2 พันหลุม ผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มจะดิ่งลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และยังไม่รู้ว่าจะลงไปเตะที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่ ก็เป็นสัญญาณอันตรายแล้วที่ผู้ประกอบการในประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบอยู่ในวันนี้จะไปรอดหรือไม่รอดยังต้องติดตาม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ถึงความเคลื่อนไหวธุรกิจพลังงานในประเทศไทยว่าปัญหานี้ต้องรีบเจรจาให้จบในเร็ววัน โจทย์ใหญ่ที่จะตามมาคือผลประกอบการของบริษัทด้านพลังงานในประเทศไทยอาจมีผลดำเนินงานร่วงกราวรูดแน่ อีกทั้งจะขาดทุนสต๊อกน้ำมัน แต่ทั้งหมดจะต้องดูราคาน้ำมันช่วงปลายปีด้วยว่าจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าราคาลงไปที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลกระทบหนักแน่นอนเพราะขาดทุน แต่ถ้าราคาน้ำมันอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลก็ยังไม่ขาดทุน ซึ่งเมื่อปี 2562 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และส่วนใหญ่ยังมองว่าปัญหานี้น่าจะเกิดขึ้นแค่ช่วงระยะสั้นๆทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อนานเพราะไม่เกิดผลดีแน่ และจะต้องมีการเจรจาร่วมกันให้เร็วที่สุด

แต่ที่แน่ๆถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือลดลง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จะมีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันประมาณ 25 สตางค์ต่อลิตร งานนี้ยังน่าห่วงถ้าช้างชนกันยาว หญ้าแพรกอาจถึงตายได้ !

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2563

 

โรงกลั่น กระอัก ขาดทุนหมื่นล้าน