หน้ากาก วัดความอยู่รอด รัฐบาล

10 มี.ค. 2563 | 11:00 น.

คอลัมน์ที่นี่ไม่มีความลับ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3556 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค.63 โดย... เอราวัณ

 

          >> ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารหน้ากากอนามัย ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ท่ามกลางการขาดแคลนหน้ากากอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นสูงสุด กับความวิตกของประชาชนที่ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ ที่ซื้อได้ก็ราคาแพงหูฉี่ กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นเครื่องชี้วัดความอยู่รอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยของชีวิต ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ ที่คำถามเกิดทั้งแผ่นดินว่า หน้ากากอนามัยที่มีกำลังผลิตได้วันละ 1.2-1.3 ล้านชิ้น หรือเดือนละ 36-38 ล้านชิ้น หายไปไหน...

          >> พร้อมๆ กับข่าวที่พ่อค้าผู้สนิทกับนักการเมืองในรัฐบาล ไปกวาดต้อนส่งออกไปจีน หรือขายกันในโลก online ชิ้นละ 12-14 บาท จากราคาที่กำหนดไว้โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ซึ่งเป็นราคาควบคุม (แต่ไม่สามารถควบคุมได้) มีการขายกันเกลื่อนตามร้านค้า (แบบลักลอบขาย) ขายกันใน online สูงกว่าราคากำหนด สูงกว่า 5 เท่า รัฐบาลก็ไร้ “ปัญญา” จัดการ จะเป็นเพราะความอ่อนหัดในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ หรือการสมคบกันระหว่างนักการเมืองกับพ่อค้าและเจ้าของโรงงาน ฉวยโอกาสทำกำไร “หากิน” กับความเดือดร้อนของประชาชน จนเปิดช่องโหว่ให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพ จนประชาชนเกิดความไม่พอใจในการบริหารจัดการ “หน้ากาก” อย่างรุนแรง

 

          >> ผู้นำรัฐบาลอย่าง ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรคิดใหม่ คิดบริหารประเทศใน “ภาวะวิกฤติ” เลิกขายหน้ากากอนามัย ด้วยการใช้เงินงบประมาณซื้อหน้ากากทั้งหมดที่ผลิตได้ ใช้เงินไม่เกิน 120-150 ล้านบาทต่อเดือน (ราคาหน้าโรงงาน มิใช่ราคาขายปลีก) แล้วรัฐบาลนำมาแจกฟรี จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอเป็นลำดับแรก ที่เหลือแจกให้ชาวบ้าน ผ่านทางไปรษณีย์ถึงบ้านโดยไม่ต้องมาเข้าแถวรอรับ (เหมือนขอทาน) เท่านี้นอกจากจะได้ใจจากประชาชนแล้ว ก็ยังเป็นการทำลายพวกหากินกับความเดือดร้อนของประชาชน ทำไมไม่ยอมทำ คิดไม่ได้หรืออยากปล่อยให้มีการหากินกัน ต้องถามถึง “ผู้นำรัฐบาล” อย่างตรงไปตรงมา

          >> ส่วนหน้ากากผ้า ที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง การบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นไปแบบไม่เข้าท่า กลัวมีการ “ตัดหน้ากันเอง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่คิดร่วมกับ อุตตม สาวนายน รมว.คลัง และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม คิดให้สมาคมสิ่งทอ ผลิตหน้ากากผ้า 30 ล้านชิ้น แจกประชาชน 10 ล้านคน กลับถูกเบรกเอาไว้ก่อน เพราะกลัวกระทรวงมหาดไทยจะเสียหน้าที่ของบประมาณให้ท้องถิ่นไปทำหน้ากากผ้า 225 ล้านบาท อ้างว่าขอให้ท้องถิ่นทำก่อน ถ้าไม่พอถึงจะให้สมาคมสิ่งทอผลิต โธ่…คิดแบบนี้ก็เจ๊งแน่! ประเทศไทยต้องคิดว่าวันนี้หน้ากากขาดแคลน ใครทำได้ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำให้ล้นตลาดยิ่งดี พวกฉวยโอกาสจะได้ “ฉิบหาย” แต่ถ้าคิด “กลัวไม่ได้หน้า” คน “ฉิบหาย” คือประชาชน

          >> ยังไม่ต้องพูดเปรียบเทียบ คุณภาพการผลิตหน้ากากผ้า ระหว่างท้องถิ่นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ประชาชนจะเชื่อมั่นคุณภาพอย่างไหนมากกว่า คิดเอาเอง เห็นสภาพ 2 เรื่องของหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ในการบริหารยามวิกฤติเช่นนี้ หากไม่ปรับการบริหารจัดการหน้ากากใหม่ วิกฤติศรัทธาจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลอย่างเสื่อมทรุด และนับถอยหลังในการ “ครองอำนาจ” ได้เลย...