กลโกง‘โจรออนไลน์’ หลอกขาย‘หน้ากาก’

11 มี.ค. 2563 | 06:05 น.

 

สารพัดปัญหาในยามที่ผู้คนในสังคมตามหา ตามต่อคิวยาวเหยียดซื้อหน้ากากอนามัย ก็วุ่นมากพอแล้ว นี่ยังมีมิจฉาชีพ หรือ โจรออนไลน์โผล่มาผสมโรงให้ปัญหากลายเป็นเรื่องฉ้อโกง

แฟนเพจอินไซด์สนามข่าวของผมเองก็กลายเป็นหนึ่งช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีโอนเงินไปแล้วแต่ไม่มีหน้ากากอนามัยส่งมาให้จริงตามที่แชตตกลงกัน

มีผู้เสียหายรายหนึ่ง เข้าไปตามหาซื้อหน้ากากอนามัยในเฟซบุ๊ก ด้วยราคาขาย 820 บาท ต่อ 1 กล่อง กล่องละ 50 ชิ้น ตกชิ้นละ 16.40 บาท ซึ่งคนขายอ้างราคาคุยว่ามีการขายไปแล้วเกิน 50 กล่อง แล้วยังชวนเชื่อด้วยหลักฐานเป็นรูปที่ขายไปแล้วและสินค้าพร้อมส่ง

ผู้เสียหายบอกว่าแอกเคาต์และประวัติคร่าวๆ ของคนขายรายนี้ ระบุว่าทำงานเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยยศระดับสูง ก็แก้ปัญหาด้วยตัวเองด้วยการส่งข้อมูลไปยังกรมการค้าภายใน ตรวจสอบ คำตอบที่ได้กลับมาเจ้าหน้าที่แจ้งว่า เคสดังกล่าวเข้ามาหลายพันเคสและมีขั้นตอนในการดำเนินงานหลายขั้นตอน

อีกรายมิจฉาชีพแฝงตัวในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อกลุ่มว่ากลุ่มซื้อ-ขาย หน้ากากอนามัย pm2.5/N95” กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปัญหา PM 2.5 ปกคลุมทั่วกทม.และหลายจุดเมื่อต้นปี ตลอดทั้งวันมีคนเข้ามาโพสต์รูปภาพและข้อความอ้างว่ามีหน้ากากอนามัยในจำนวนตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักล้านชิ้น แน่นอนว่าทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มบางส่วนหลงเชื่อแล้วให้ก็ตัดสินใจโอนเงิน แต่สุดท้ายไม่มีสินค้าส่งตามที่ตกลงกันเช่นเคย

 

กลโกง‘โจรออนไลน์’  หลอกขาย‘หน้ากาก’


 

ผู้เสียหายรายหนึ่งเป็นสุภาพสตรีจากจังหวัดเชียงราย ร้องเรียนและเล่าถึงความซับซ้อนของโจรออนไลน์ที่หลอกเธอว่า ตัวเธอต้องการซื้อหน้ากากอนามัยไปบริจาคให้โรงเรียนของลูกและศูนย์เด็กเล็กแถวบ้าน จึงติดต่อซื้อหน้ากากอนามัยกับผู้ขายที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กของผู้ชายคนหนึ่ง ที่โพสต์ขายหน้ากากอนามัย 1 กล่องบรรจุ 50 ชิ้น ราคากล่องละ 900 บาท รวมส่ง ตกชิ้นละ 18 บาท พร้อมมีรูปของผลิตภัณฑ์และเบอร์โทร. เลขบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อแสงชัย (สงวนนามสกุล)” ซึ่งเป็นชื่อบัญชีเดียวกับของผู้เสียหายหลายรายที่ถูกหลอกโอนเงินเข้าบัญชีนี้และร้องเรียนมาที่ผม

สาวเชียงรายรายนี้ จึงตัดสินใจซื้อรวมเป็นเงิน 8,200 บาท และหลังจากมั่นใจว่าโดนหลอกแล้ว จึงนำหลักฐานเข้าแจ้งความที่สภ.แม่จัน .เชียงราย ไว้เป็นหลักฐาน

ผู้เสียหาย เขาก็พยายามต่อและเล่าว่า เธอพยายามติดต่อแสงชัยพบเป็นหนุ่มอายุ 23 ปี นายแสงชัย บอกว่าตัวเขาเองมีอาชีพรับจ้างเติมเงินในวอลเล็ต ไม่ได้ขายหน้ากากอนามัย จากนั้นนายแสงชัย จึงนำหลักฐานที่เขามีอาชีพเติมเงินเข้าวอลเล็ต ส่งมาทางไลน์ให้ดู

 

พอเราโอนเข้าบัญชีนายแสงชัย เขาก็เติมวอลเล็ต ให้ อีกคน ชื่อ ทองสุข(สงวนนามสกุล) ซึ่งนายแสงชัย เขาจะได้ค่าเติมเงินวอลเล็ต ตามเปอร์เซ็นต์ของเงินที่เข้า นายแสงชัยบอกดิฉันว่า มีเงินเข้าบัญชีเขา 900 บาท อยู่ 3 ครั้ง และมีเงินเข้าครั้งที่ 4 อยู่ที่ 8,200 บาท ซึ่งเป็นเงินดิฉันหลังจากที่เติมวอลเล็ตให้คนชื่อ ทองสุข

เขียนถึงตรงนี้ ก็ฝากไปถึง กระทรวงพาณิชย์ สคบ. ปคบ. รวมไปถึงกระทรวงดีอีเอส ว่าทำอย่างไรจะช่วยให้ชาวบ้านตาดำๆ ได้เงินคืน และจะจับโจรออนไลน์แบบทันท่วงทีมาเชือดไก่ให้ลิงดูสักที

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563