#ตามหาหน้ากากอนามัย นักการเมืองอุปสรรคใหญ่

06 มี.ค. 2563 | 09:47 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3555 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-11 มี.ค.63 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

สถานการณ์โรคระบาดโคโรนา หรือ โควิด-19 กำลังลุกลามแผ่ขยายไปทั่วโลก มีจำนวนผู้ป่วยหลายพันราย ติดเชื้อตั้งแต่จีน เอเชีย ลามไปอิหร่าน ยุโรป สหรัฐฯ

โควิด-19 เริ่มต้นจากจีนที่เข้าสู่การทรงตัวมีผู้ติดเชื้อ 80,430 ราย เสียชีวิต 3,013 ราย รักษาหาย 52,045 ราย, เกาหลีใต้พื้นที่ระบาดรุนแรงเช่นกันผู้ติดเชื้อ 6,088 ราย เสียชีวิต 40 ราย รักษาหาย 41 ราย, อิหร่านติดเชื้อ 3,513 ราย เสียชีวิต107 ราย รักษาหาย 552 ราย, อิตาลีติดเชื้อ 3,089 ราย เสียชีวิต 107 ราย รักษาหาย 276 ราย, เยอรมนีติดเชื้อ 349 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รักษาหาย16 ราย

ญี่ปุ่นติดเชื้อ 331 ราย เสียชีวิต 6 ราย รักษาหาย 10 ราย, ฝรั่งเศสติดเชื้อ 285 ราย เสียชีวิต 4 ราย รักษาหาย 12 ราย, สเปนติดเชื้อ 248 ราย เสียชีวิต 3 ราย รักษาหาย 16 ราย, สหรัฐฯติดเชื้อ 160 ราย เสียชีวิต 11 ราย รักษาหาย 9 ราย และหลายประเทศกำลังประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อตามมาอีกมากมาย ขณะที่ประเทศไทยเองมีผู้ติดเชื้อ 47 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหาย 31 ราย

องค์กรระหว่างประเทศ อย่าง องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับเป็นโรคอุบัติใหม่ที่รุนแรงและสร้างความกังวลในการแก้ปัญหา องค์กรการเงินระหว่างประเทศ อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศตั้งงบช่วยเหลือวงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.55 ล้านล้านบาทในการให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำทั่วโลก ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถขอกู้โดยปราศจากดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาบริการด้านสุขอนามัยของประชาชนป็นลำดับแรก

 

หลายประเทศออกมาตรการแก้ปัญหาที่เฉียบพลันและรุนแรง ทั้งมาตรการเฉพาะหน้าในการสกัดกั้นการลุกลามของโรค ทั้งการกักตัวในระยะเวลา 14 วันสำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง การเตือนห้ามเดินทางไปประเทศโรคระบาดโดยไม่จำเป็น ไม่รับคนที่มาจากประเทศโรคระบาด เป็นต้น เพื่อระงับ ยับยั้ง ป้องกัน

หลายประเทศคาดการณ์ไปข้างหน้าถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะมาตามสถานการณ์ของโรค อย่าง สหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประชุมฉุกเฉินประกาศลดดอกเบี้ย 0.50% ทันที ขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งพร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้นทันที เพราะเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ฉุกเฉินร้ายแรง

ย้อนกลับมาดูประเทศไทยกับการรับมือกับปัญหาที่ทั่วโลกมองว่าฉุกเฉินร้ายแรงนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาที่หน่อมแน้มมากๆ

เอาเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ก็จะเห็นความชัดเจนว่ารัฐบาลก็แค่เด็กเล่นขายของ

วันพุธที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา มีการประชุมแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยอย่างน้อย 3 วงประชุม วงของกระทรวงมหาดไทยประชุมภายในเรื่องการให้ท้องถิ่นผลิตหน้ากากผ้า วงถัดมามีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์นั่งหัวโต๊ะ ที่ผ่านมาเป็นตำบลกระสุนตกในฐานะผู้กำกับดูแลการค้าภายในประเทศ แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการหน้ากากอนามัยได้

และวงของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หิ้ว อุตตม สาวนายน รมว.คลังไปประชุมกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ผู้กำกับดูแลการผลิตสินค้าของประเทศ ประกาศทำหน้ากากผ้าแจกฟรีให้กับประชาชน 30 ล้านชิ้น

“เอาเข้าไปรัฐบาลเดียวกัน ต่างคนต่างคุย คนโน้นก็เรียกผู้ผลิต พ่อค้าไปคุย คนนี้ก็ใหญ่เรียกผู้ผลิต พ่อค้าไปคุยเหมือนกัน ตกลงนี่เป็นรัฐบาลเดียวกันไหม แล้วการแก้ปัญหาจะเป็นเอกภาพได้อย่างไร เป็นการแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร แฮชแท็กยอดนิยมในโลกโซเชียล สะท้อนได้ดี ได้ตรง #ตามหาหน้ากากอนามัย

 

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขโดยรมว.สาธารณสุขสั่งให้องค์การเภสัชกรรมผลิตจำหน่ายราคาชิ้นละ 1 บาท แต่ระยะเวลาไม่นานบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลออกมาส่งเสียงว่าไม่มีหน้ากากอนามัยเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

ไฉนไม่ให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเพิ่มและส่งให้โรงพยาบาลก่อน!!

#ตามหาหน้ากากอนามัย สะท้อนความไร้เอกภาพของรัฐบาลโดยสิ้นเชิงในการบริหารวิกฤติ

ไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาของจีน ที่สร้างโรงพยาบาลขนาด1,000 เตียงเสร็จใน 1-2 สัปดาห์

อันที่จริงการ #ตามหาหน้ากากอนามัย จะไม่เกิดขึ้น ถ้าวางแผนบริหารจัดการโดยเอกภาพและเบ็ดเสร็จ ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

เราเห็นรัฐมนตรีไอที ไต้หวัน วางแผนบริหารจัดการนำระบบไอที นำแผนที่กูเกิลมาใช้ ตรงไหนเป็นแหล่งผลิต แหล่งขาย มีจำนวนปริมาณเท่าไรในแต่ละจุด คนจะเห็นได้ ซื้อได้ ตามความสะดวกของตนเอง จำต้องย้อนกลับมามองบ้านเราทำอะไรกัน ช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว การใช้ไอทีเข้าช่วยอยู่ตรงไหนกับใคร ทำอะไรอยู่

เราจะไม่ต้องเห็น #ตามหาหน้ากากอนามัย หากวางแผนเร่งรัดเพิ่มกำลังผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร คอร์ปอเรตใหญ่ๆ อย่างปตท. หรืออุตสาหกรรมส่งออกหันมาปรับเครื่องจักรเพิ่มสายการผลิต หากคนไม่พอ ต้องคิด ผ่องถ่ายคนที่กำลังว่างงานจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทรุดหนัก นำพวกเขาเข้าโรงงานผลิตหน้ากากตามความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ไหนๆ เขาก็ตกงานชั่วคราวอยู่แล้ว

ต้องคิดใหม่ ช่วยคิด และลงมือทันที ขออย่าให้ปัญหาการเมือง นักการเมืองที่คอยแต่แย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นอุปสรรคในการ #ตามหาหน้ากากอนามัย