บทบาทของประชาชน ช่วยลดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา

07 มี.ค. 2563 | 02:50 น.

รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย

โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563

 

ตอนนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทั่วโลกต่างหาวิธีป้องกันและรักษาคงหนีไม่พ้นเรื่องไวรัสโคโรนา ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงและแพร่กระจายไปเกือบทุกทวีปแล้ว ปัญหานี้คงไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นปัญหาที่ทุกส่วนต้องร่วมมือกันต่อสู้เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ในระหว่างที่ทางการแพทย์พยายามหาวิธีป้องกัน เยียวยา รักษา เพื่อลดอัตราการตาย การแพร่กระจาย และลดผลร้ายที่ปอดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาหายแต่ยังได้รับผลร้ายที่ทิ้งไว้อันเนื่องมาจากไวรัส ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมด้วยช่วยกันในการลดปัญหานี้ ดังนั้นบทความนี้จึงมุ่งที่จะนำเสนอให้เห็นถึงสิ่งที่ประชาชนควรจะกระทำเพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของไวรัส โดยจะนำเสนอมุมทางกฎหมายที่กำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามในยามที่มีโรคระบาด เพราะหากประชาชนไม่ทำซึ่งแน่นอน ว่าจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่สังคมจะได้รับผลร้าย กฎหมายก็ได้มีการกำหนดเอาผิดผู้ที่ฝ่าฝืนได้ด้วยเช่นกัน

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Corona Virus Disease (COVID-19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม ... โรคติดต่อ .. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งใน ... โรคติดต่อ .. 2558 หมวด 5 มาตรา 31 ได้กำหนดเรื่องการเฝ้าระวังโรคติดต่อโดยกำหนดให้เจ้าบ้าน ผู้รับผิดชอบสถานพยาบาล ผู้ทำการชันสูตรหรือผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่มีการชันสูตร และเจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ มีหน้าที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานงานควบคุมโรคติดต่อ หากมีบุคคลหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนั้น ตัวอย่างเช่น หากมีบุคคลในบ้านเดินทางไปยังประเทศที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาด เจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้งให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทราบ หากเจ้าบ้านเพิกเฉยไม่แจ้ง ถือเป็นการฝ่าฝืนเจ้าบ้านหรือบุคคลต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นอาจโดนลงโทษปรับเป็นเงินจำนวน 20,000 บาทได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50

นอกจากนี้ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อนี้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจสั่งให้มีการดำเนินการได้หลายอย่างเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแยกกัก กักกัน หรือควบคุมไว้สอบสวน ซึ่งหากมีการสั่งต่อบุคคลที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงว่าให้ต้องกักตัวเองไว้เป็นเวลา  14 วัน อย่างกรณีแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ ที่มักถูกเรียกว่าผีน้อยที่จะมีการขอเดินทางกลับไทยจำนวน 5,000 คน ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติด ต่อสั่งให้บุคคลในกลุ่มดังกล่าวกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หาก มีผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงาน ถือเป็นการกระทำ  ผิดตามมาตรา 51 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดโทษในการฝ่าฝืนคำสั่งนี้ไว้เป็นโทษปรับจำนวน 20,000 บาทเช่นกัน

 

บทบาทของประชาชน  ช่วยลดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา

 

จริงๆ แล้วกฎหมายได้กำหนดไว้หลายเรื่องเพื่อทำให้เจ้าพนักงานสามารถใช้อำนาจในการควบคุมโรคติดต่อโดยใช้มาตรการการลงโทษผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย อีกหนึ่งตัวอย่างที่เจ้าพนักงานสามารถสั่งให้ทำได้เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของโรคคือ กรณีการใช้ยานพาหนะเดินทางผ่านไปยังประเทศที่เป็นท้องที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตติดโรคแล้ว เจ้าพนักงานควบคุมโรคมีอำนาจสั่งให้จอดพาหนะนั้นไว้ในสถานที่ที่กำหนดจนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้ เพื่อเป็นการป้องกันการนำไวรัสที่ติดมากับยานพาหนะเข้ามาในประเทศ ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 40 (2) นี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และหากสั่งให้บุคคลที่มากับพาหนะนั้นรับการตรวจทางการแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สถานที่และระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ทำตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้เพื่อการทำงานที่สะดวกของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กฎหมายยังกำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกให้ด้วยตามสมควร ถ้าฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ 20,000 บาท

ปัจจุบันนี้ มีหน่วยงานราชการจำนวนมากมีการประกาศไม่ให้ข้าราชการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และบางหน่วยงานถึงขั้นห้ามข้าราชการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อลดภาวะเสี่ยง ดังนั้นหากท่านที่เป็นข้าราชการฝ่าฝืนสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากจะมีโทษทางอาญาแล้วยังอาจโดนเรื่องทางวินัยอีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วประชาชนมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาด ดังนั้นกฎหมายจึงพยายามกำหนดให้ประชาชนต้องทำหน้าที่ในส่วนนี้ของตน ในฐานะนักกฎหมายและประชาชนคนหนึ่ง ผมเห็นว่ากฎหมายในบางเรื่องก็กำหนด โทษไว้น้อยไป หากเทียบกับผล กระทบของคนที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ปัญหาไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจของทั้งโลก รวมไปถึงผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของทุกๆ คน ดังนั้นในฐานะพลเมืองที่ดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการแพร่กระจายภัยร้ายของโลกตัวนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ไม่ทำตัวเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง และหากเป็นไปแล้วก็ควรถือปฏิบัติในเรื่องการกักตัวท่านเองในพื้นที่จำกัดเพื่อรอดูอาการ เพื่อจะได้ช่วยให้ปัญหานี้ทุเลาเบาบางลงจนวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถหาเครื่องมือมาใช้ต่อสู้กับไวรัสตัวนี้ได้