ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย ใครเสวยดอกผล

05 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3554 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี 


          ประเทศไทย เคยผ่านเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง แต่ที่นับได้ว่าเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ มีผู้ร่วมการชุมนุมมากที่สุดทั่วประเทศ ก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อคัดค้านอำนาจเผด็จการทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมาต่อเนื่องยาวนาน ต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปี 2516 รวมระยะเวลาถึง 16 ปี ที่ประเทศไทยว่างเว้นจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นสาเหตุให้มีการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้น โดยเริ่มต้นจากขบวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน และประชาชน
          เหตุการณ์และความเป็นมาของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นอย่างไรผู้เขียนขอข้ามไป เพราะต้องการชี้ให้เห็นเพียงว่า เมื่อเหตุการณ์จบลงหลังการชุมนุม ที่มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง เพื่อแลกกับการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2517 และได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการจัดการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองมากมายหลายพรรค เข้าสู่การเลือกตั้ง มีรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ที่สุด ใครคือผู้ที่มาเสวยดอกผลจากการต่อสู้ของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา เหล่านั้น
          ภายหลังที่อำนาจของ จอมพลถนอม-จอมพลประภาส สิ้นสุดลง ความเป็นจริงในเรื่องนี้ก็ปรากฏชัดต่อมาว่า กลุ่มบุคคลที่ได้โอกาสและเข้ามาเสวยดอกผล ก็คือกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในปี 2517 ได้แก่ พรรคเกษตรสังคม, พรรคธรรมสังคม, พรรคกิจสังคม, พรรคชาติไทย,พรรคพลังใหม่, พรรคสังคมนิยม, พรรคแนวร่วมสังคมนิยม, พรรคสังคมชาตินิยม และพรรคการเมืองอื่นๆ ร่วม 40-50 พรรค
          โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคที่นักเลง เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล และกลุ่มทุนทั้งท้องถิ่นและระดับประเทศ ดาหน้าเข้ามาเป็นนักการเมือง ลงสมัครผู้แทนราษฎร ได้เป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี ร่วมรัฐบาลและได้อำนาจรัฐ นักการเมืองที่มีคุณภาพ และคนที่มีอุดม การณ์ประชาธิปไตยมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ล้วนอาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตยบังหน้า แต่ใจกระหายแต่อำนาจและผลประโยชน์ ประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการและใฝ่ฝัน จึงได้พวกนักการเมืองมาแทนและรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต”

          ขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่แฝงตัวแทรกซึมอยู่ในขบวนการนักศึกษา ก็เร่งขยายงานจัดตั้งเพื่อดึงนักศึกษา เข้าสู่ขบวนการปฏิวัติ เพื่อนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม และรูปแบบการปกครองประเทศ เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จนแยกไม่ออกระหว่างขบวนการนักศึกษาที่บริสุทธิ์ กับขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงนำไปสู่การที่ทหารต้องยึดอำนาจ และเกิดเหตุการณ์นองเลือดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหารในปี 2534 ธงประชาธิปไตยที่ถูกชูขึ้นโบกสะบัดในปี 2516 ก็ไร้พรรคหรือขบวนการที่เข้มแข็งถือต่อ จะด้วยความไร้เดียงสาของขบวนการประชาธิปไตย หรือเพราะไร้พรรคอุดมการณ์ที่เข้มแข็ง นำพาประชาชนไปสู่เป้าหมาย เป็นบทเรียนที่ต้องศึกษา
          ก้าวสู่ยุคประชาธิปไตยยุคใหม่ ช่วงเวลาปี 2535-2549 เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2534 เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกกล่าวหาว่า “เป็นรัฐบาลบุฟเฟ่ต์คาบิเนต” พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” จนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ประชาชนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายนับหลายร้อยคน บ้านเมืองกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งอีกครั้ง มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และการปฏิรูปทางการเมือง จนเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 ด้วยการออกมารณรงค์ของประชาชน ด้วยกลุ่มธงสีเขียว เพื่อเรียกร้องการเมืองที่สะอาด และการปฏิรูปการเมืองใหม่
          แต่ผลที่สังคมได้รับคือ รัฐบาลพรรคไทยรักไทย จากกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ได้ระบอบธนาธิปไตย ได้รัฐบาลและการปกครอง “ระบอบทักษิณ” ที่ได้ชื่อว่าโคตรโกงและโกงกันทั้งโคตร และนำการเมืองไทยสู่ความกลียุค วิกฤติร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม อย่างที่เห็นและทราบกันดีต่อเนื่องกันยาวนาน มาจนถึงปี 2557 จนเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้งเมื่อปี 2549 และ 2557

          จะเห็นได้ว่า การเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง เรียกร้องและแสวงหาการเมืองใหม่ ด้วยการต่อสู้เรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือการลุกขึ้นสู้ของพลังมวลมหาประชาชน เรือนแสนเรือนล้าน สุดท้ายกลับปรากฏผลว่า มักจะมีผู้คอยเสวยดอกผล และตีกินกับเหตุการณ์การต่อสู้ด้วยความเสียสละของประชาชนเสมอ
          การลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหม่ ที่กำลังดำเนินไปโดยอาศัยพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาในปัจจุบัน แม้เด็กๆ เหล่านั้นจะอ้างถึงความตั้งใจดี หรือเจตนาที่ดีเพื่อความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองที่เสียประโยชน์ ที่กระสันอยากได้อำนาจ และกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายที่ฝักใฝ่ในระบอบการปกครองอื่น ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบ ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แอบแฝงแทรกซึม เพื่อใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยที่กลุ่มคนเหล่านั้นไม่ออกหน้า ช่วยกันหนุนและสุมไฟให้นักศึกษา เอาชีวิตและอนาคตของตนไปเสี่ยง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
          การเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ไร้การนำ ขาดผู้นำทางความคิดที่มีจุดยืนและอุดมการณ์ อันเป็นที่ยอมรับ มีความเชื่อถือ ความน่าศรัทธาของมหาชน ไว้วางใจแล้ว ย่อมสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง ที่จะเป็นการต่อสู้ที่สูญเปล่า กลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา ดั่งอดีตที่ผ่านมา