ชงกกร.ประเมินผลกระทบไวรัสโคโรนา4 มี.ค.นี้

03 มี.ค. 2563 | 11:03 น.

คอลัมน์   พื้นที่นี้....Exclusive

โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด19  กำลังขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆนอกเหนือประเทศจีน  มากขึ้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ตื่นตัว ล่าสุดให้ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมส่งรายงานประเมินผลกระทบที่ได้รับมากน้อยแค่ไหนประมวลผลทั้งหมดเพื่อหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน(กกร.) ในวันพรุ่งนี้(วันที่ 4 มีนาคม)

ต่อเรื่องนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ถึงความเคลื่อนไหวในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกอยู่ในส.อ.ท.ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นายเกรียงไกร ย้อนให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ว่าเมื่อปี 2562  ส.อ.ท.ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบเรื่องสงคามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนว่ามีอุตสาหกรรมใดบ้างที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบ  โดยปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชน ส่งสินค้าหรือส่งชิ้นส่วนหรือสินค้าระดับกลางไปให้จีนแล้วจีนนำไปประกอบหรือผลิตต่อและส่งไปตลาดสหรัฐอเมริกา  กลุ่มนี้ได้รบผลกระทบยอดตกลง  ขณะเดียวกันก็มีหลายอุตสาหกรรมที่สวนทางกัน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นในปีที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกไปจีนลดลงไป 4-5% แต่ขณะเดียวกันไทยส่งออกไปอเมริกาได้เพิ่มขึ้น 11%  ดังนั้นถือว่าสงครามการค้าที่ผ่านมาก็จะมีทั้งได้รับผลกระทบและได้รับโอกาส 

-ไวรัสโคโรนาดับฝันภาคผลิต

สำหรับต้นปี2563 ต่างคาดการณ์กันล่วงหน้าว่าสงครามการค้าจีน-อเมริกาพักรบ ดังนั้นปี 2563 เศรษฐกิจโลกน่าจะคลี่คลาย จีดีพีน่าจะเติบโตขึ้น  แต่พอมาถึงต้นปี 2563  การแพร่ระบายของไวรัสโคโรนาหรือโควิด19  ที่นับวันทวีความรุนแรง  จนจีนต้องออกมาประกาศปิดประเทศ และมีคำสั่งไม่ให้บริษัททัวร์นำคนจีนออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศ และแต่ละเมืองที่ระบาดก็ให้ปิดเมืองและไม่ให้มีการเดินทางข้ามเมืองระหว่างกันแม้แต่โรงงานต่างๆก็หยุด ผลกระทบครั้งนี้สิ่งที่เห็นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาและได้รับผลกระทบแน่นอนคือภาคท่องเที่ยว  และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวทั้งหมดเริ่มตั้งแต่สายการบินทั้งหลาย โรงแรม บริษัททัวร์ บริษัทรถยนต์ร้านอาหาร  ร้านขายของฝาก แม้แต่อุตสาหกรรมที่คิดไม่ถึงว่าจะกระทบด้วยอย่างเครื่องสำอาง สินค้ายอดฮิตที่ได้รับการขานรับจากตลาดจีนก็ได้รับผลกระทบด้วย  รวมถึง ยา   สมุนไพร นมอัดเม็ด ถือเป็นสินค้ายอดนิยม   เหล่านี้ยอดขายร่วงเพราะนักท่องเที่ยวไม่มา ดังนั้นสินค้าที่เคยขายดียอดขายก็หายไปกับนักท่องเที่ยวจีน

ในแง่ภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบเพราะมีวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบหลายรายการที่ต้องนำเข้ามาจากจีน  อีกทั้งประเทศไทยเราต้องพึ่งพาการส่งออกเกือบ 70% และในการส่งออกทั้งหมดคู่ค้าอันดับหนึ่งที่เราส่งออกมากที่สุดคือ จีน  ในสัดส่วนประมาณ 12% ของยอดส่งออกของไทยไปจีน

ดังนั้นเราจะมีสินค้าหลายตัวที่จีนไม่สั่งซื้อจากผู้ผลิตสินค้าขั้นกลาง ที่เป็นซัพพอตติ้ง  หรือสินค้าช่วงกลาง ที่เราส่งออกไปจีนประมาณ 45% ของยอดส่งออกทั้งหมดที่ไปจีน ดังนั้นตรงนี้ได้รับผลกระทบเพราะโรงงานจีนหยุดหมดและบริเวณที่ชัดดาวน์14 มณฑลเป็นมณฑลที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนอย่างยิ่ง จีดีพีประเทศจีนส่วนใหญ่มากกว่า 60%  อยู่ที่บริเวน 14 มณฑลนี้ และการส่งออกเกือบ 80% ก็อยู่ที่ 14 มณฑลนี้  ไม่ผลิตเราก็ส่งของไปไม่ได้ ท่าเรือ ต่างๆก็หยุดหมดไม่มีคนทำงาน 

นอกจากไทยส่งออกไปจีนสัดส่วน 12% แล้วยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนด้วย  โดยนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่า 20%  ดังนั้นสินค้าต่างๆไม่ว่าจะเป็นพวกชิ้นส่วน แผงวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้า เราต้องนำเข้ามาเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตของหลายอุตสาหกรรม เหล่านี้เริ่มมีปัญหาเพราะเริ่มมีการชัดดาวน์ หลายอุตสาหกรรมหยุดการผลิตสต็อกของไทยก็เริ่มลดลง หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีปัญหาเพราะเปิดแอลซีไปแล้วไม่รู้ว่าของจะมาถึงเมื่อไหร่ ไม่สามารถติดต่อได้หรือไม่มีคำตอบจากคู่ค้าจีน  

“ปกติออเดอร์เราจะต้องมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า  แต่สั่งซื้อไปแล้วปลายทางไม่ตอบมา การเปิดแอลซีไปก็จะมีระบุว่าส่งของภายในกี่วันถึงจะรับ  แต่ตอนนี้ไม่มีการยืนยันกลับมา”

ชงกกร.ประเมินผลกระทบไวรัสโคโรนา4 มี.ค.นี้

-กรณียืดเยื้อรับมืออย่างไร

ตอนนี้ส.อ.ท.แบ่งการมองออกเป็น 4 ช่วงเวลา  1.มองว่าโควิก19  ถ้าจีนสามารถควบคุมได้เร็ว ภายในสิ้นเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้ ถ้าควบคุมได้โดยเดือนเมษายนเริ่มสตาร์ดใหม่ก็ถือว่าจะเป็นภาพที่ดีที่สุดความเสียหายก็จะควบคุมได้ และจะทำให้ตัวเลขประมาณการของเราลดลงไปกว่าที่ทางกกร. คาดการณ์ไว้ไม่มาก(กกร.คาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 2-2.5 )ทั้งปีก็อาจจะลดลงไป0.5

2.กรณีถ้าลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายนนี้ แล้วไปเริ่มดีขึ้นในเดือนกรกฏาคม ถ้ายืดเยื้อมาถึงตรงนี้จะเสียหายเยอะอาจจะทำให้ทั้งปีตัวเลขการส่งออกหายไปครึ่งหนึ่งซึ่งในส่วนนี้ก็เริ่มลำบาก

3.หากเริ่มฟื้นตัวได้ในเดือนกันยายนนี้  เศรษฐกิจฟื้นตัวในไตรมาสสี่ปี2563    ถ้ายืดเยื้อมาถึงขั้นนี้บาดเจ็บแน่นอนเพราะจะมีบางบริษัทโดยเฉพาะเอสเอ็มอีปิดกิจการ  เลิกกิจการหรือมีการเอาคนออกมากขึ้น

4.กรณีปัญหาลากยาวถึงไตรมาสสี่ แล้วค่อยมาฟื้นตัว  ตรงนี้จะทำให้บรรดาเอสเอ็มอีหรือกลุ่มธุรกิจที่มีสายป่านสั้นอาจจะต้องเลิกกิจการ ปิดกิจการ  เอาคนออกอีกจำนวนมากเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราจะทำได้ในช่วงระยะสั้นที่สุดคือ 1.  ทางด้านซัพพลายเชนที่เราจะต้องซื้อเข้ามาทดแทน โดยจะต้องหาประเทศอื่นนำเข้ามาทดแทนจีนก่อน  ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการสั่งนำเข้าจากประเทศอื่นแล้วและอาจจะแพงขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังดีกว่าไม่มี เช่น หันไปนำเข้าจากญี่ปุ่น ไต้หวัน  ในสินค้าประเภทเดียวกันและส่งมอบได้  นำเข้ามาแทนจีนที่หยุดการผลิตชั่วคราวอยู่   หรือสินค้าบางตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เราก็เริ่มขาดแคลนหลายตัวเพราะเรานำเข้าจากจีนหลายตัว ก็ต้องหันไปเจรจากับอินเดีย และในยุโรป

นอกจากนี้มาตรการต่างๆที่ส.อ.ท.เคยนำเสนอต่อภาครัฐเราก็ต้องกลับมาทบทวนอย่างจริงจัง เช่น เรื่องการพึ่งพาตลาดส่งออกมากเกินถึง 70% ของจีดีพี  โดยเรามีการนำเข้าชิ้นส่วนจำนวนมากมาผลิตพอประเทศคู่ค้ามีปัญหา  เราก็มีปัญหาไปด้วย  เราควรจะต้องมีมาตรการในการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นโดยสนับสนุนการใช้สินค้าภายในประเทศก่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ลดการนำเข้าจะเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา 5-20 ปี โดยค่อยๆลดการพึ่งพาตลาดส่งออกจาก 70% ให้เหลือ 50% ให้ได้ภายใน 20 ปี


 

-สัญญาณจากจีนเริ่มดีแต่ไม่วางใจ

อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีเพราะตัวเลขการแพร่ระบาดของจีนลดลง  อัตราการรักษาให้หายมีเพิ่มขึ้น  ตัวเลขการติดโรคเหลือวันละหลักร้อย จากเดิมมี 2,000-3,000 ราย  และอัตราการรักษาให้หายจากที่มีคนติดโรคอยู่ 80,000 คน  ตอนนี้รักษาหายไปแล้ว 30,000-40,000 คน และยังเหลืออยู่ประมาณ 40,000 คน แต่ถึงแม้ว่าเริ่มควบคุมได้ ทางจีนก็ยังต้องเข้มงวดมาตรการทุกอย่าง  การเดินทางก็ยังต้องผ่อนปรนได้นิดหน่อยในระยะใกล้  ยังต้องรักษาสภาวะแบบนี้ไปก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าการแพร่ระบาดจะไม่หวนกลับมาอีก  เพราะมีการศึกษาว่าโรคนี้รักษาหายแล้วสามารถกลับมาเป็นได้อีก  ฉนั้นทางจีนจะต้องมั่นใจว่าจะไม่กลับมาอีก ดังนั้นถึงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 เป็นอย่างน้อยน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้

“แต่สิ่งที่เหนือการคาดหมายตอนนี้คือ โควิด19 ระบาดออกไป 46 ประเทศทั่วโลกแล้วและมีประเทศใหม่ๆที่คาดไม่ถึงและอยู่ไกลจากจีนอยู่คนละทวีปก็เกิดการติดเชื้อ  ตอนนี้จะเห็นว่าประเทศอย่างอิตาลี ยุโรปก็มีคนติดมากมาย อิหร่าน ญี่ปุ่นโดยเฉพาะเกาหลีเสียชีวิตก็จำนวนมาก  แม้แต่อเมริกา เยอรมันก็ติดเชื้อ จะทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วนไปทั่วโลก”

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยถือว่าดีขึ้น เพราะมีคนติดเชื้ออยู่ 40 กว่าคน แต่หายกลับบ้านแล้ว 30 กว่าคนถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตไป1ราย แต่โดยภาพรวมเรายังเหลือที่ติดเชื้ออยู่เพียง11-12 คน ฉนั้นลำดับของเราจากที่เคยอยู่ลำดับต้นๆ ตอนนี้ก็ร่วงลงมาเรื่อยๆ  ภาคเอกชนยังคาดหวังว่าสถานการณ์ของจีนอาจจะดีขึ้น  แต่ประเทศอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นไม่รู้ว่าสถานการณ์จะลามแค่ไหน  และในแต่ละประเทศจะมีขีดความสามาราถในการป้องกันได้อย่างไร  สำหรับประเทศไทยถ้ามีมาตรการที่ดี ทางสาธารณะสุขมีการคัดกรองที่ดี มีการเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี ไทยเราอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆก็ได้

-ประเมินผลกระทบในแง่การส่งออก

สำหรับผลกระทบจากการส่งออก ส.อ.ท.จะต้องรีบหาตลาดใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพ  เช่น อินเดีย ก็มีประชากร1,300 ล้านคน มีคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อถึง30%  หรือ 400 ล้านคน  ตรงนี้เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพและกำลังเติบโต เราจะต้องมุ่งไปเจาะตลาดอินเดียให้มากขึ้นและอินเดียก็มีอุตสาหกรรมพื้นฐานเช่น เคมี เหล็ก จำนวนมากคล้ายกับจีน โดยทั้งหมดนี้จะนำเสนอคณะกรรมร่วมรัฐ-เอกชน(กกร.)ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ โดยเราจะมีตัวเลขจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีแบบฟอร์มให้กรอกว่าอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบจากโควิด19 กระทบอย่างไร  เพื่อสรุปปัญหาแล้วปรึกษากับภาครัฐว่าจะแก้ไขอย่างไรในระยะสั้นไปถึงระยะยาว

ส่วนในระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้เลย  เช่น การมองหาตลาดใหม่มาทดแทนการส่งออกที่มีปัญหา  รวมทั้งหาแหล่งซัพพลายสินค้าเพื่อทดแทนจีน  ส่วนระยะยาวเราภาครัฐ-เอกชนจะต้องร่วมมือกันโดยมีมาตรการออกมาโดยให้มีการสนับสนุนสร้างอุตสาหกรรมที่เราต้องนำเข้ามาให้เกิดขึ้นในประเทศปรับทิศทางพึ่งพาตัวเอง

นายเกรียงไกรย้ำทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมามีหลายอุตสาหรรมที่เราต้องปิดตัวเองลงเพราะแข่งขันกับจีนไม่ได้ ทำให้หลายแห่งต้องนำเข้าจากจีนพอจีนมีปัญหา โรงงานผลิตในไทยก็มีปัญหาด้วย   ถ้าเราพึ่งพาในประเทศได้เราก็จะแข็งแกร่งเหมือนประเทศอื่นที่มีแนวทางพัฒนาแบบเดียวกัน เช่น จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี  จนมีแบรนด์ของตัวเอง เช่น เกาหลีโด่งดังในแบรนด์ “ซัมซุง”มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย  สิ่งเหล่านี้เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน