หน้ากากอนามัยอยู่ไหน? ‘พาณิชย์’ ตอบคนไทยด้วย...

03 มี.ค. 2563 | 10:00 น.

คอลัมน์ : ล้วงตับ โดย จิ้งจกตัวใหญ่

 

          พลันที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 (COVID-19) ล่าสุดว่า มีคนไทยอายุ 35 ปี มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีนติดเชื้อไวรัสและเสียชีวิตลงเป็นรายแรก ความตื่นตระหนกของคนไทยในเรื่องนี้ได้ทวีคูณขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากต่างคิดว่า เรากำลังประสบปัญหาโรคติดต่อร้ายแรงถึงขั้นวิกฤติ แต่อันที่จริงก็ไม่ถึงขั้นนั้น หลากหลายกระทรวง หน่วยงานรัฐและเอกชน ช่วยกันคิดและออกมาตรการต่าง ๆ หลายมาตรการเพื่อเยียวยาพี่น้องคนไทยทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน แต่มีอยู่กระทรวงหนึ่ง ดูเหมือนจะตั้งใจช่วย พยายามคิดออกมาตรการกำกับดูแลสั่งการ แต่กลับหลงทิศหลงทางเสียมากกว่า นั่นก็คือ ‘กระทรวงพาณิชย์’

          หากย้อนดูการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การนำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้ากระทรวงนี้ด้วย ตั้งแต่ประเทศไทยรับรู้และรับมือกับสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 กระทรวงนี้ก็ถูกประชาชนกร่นด่ากันทั้งเมือง ทั้งบนโลกความเป็นจริงและโลกเสมือนอย่างเพลทฟอร์มออนไลน์ จากเหตุการณ์ที่กระทรวงฯ โหนกระแสเป็นนักบุญในยามวิกฤต ด้วยการเปิดกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จำหน่ายหน้ากากอนามัยโดยจำกัดจำนวนให้ 1 คนซื้อได้ 1 ชุด หน้ากากอนามัย 10 ชิ้น ราคา 25 บาท ซึ่งเปิดจำหน่ายในเวลา 09.00 น. มีประชาชนจำนวนมากมารอซื้อตั้งแต่เวลา 06.00 น. แต่เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าไม่ขายให้ และหันไปตอบกับประชาชนว่า “ต้องมีพิธีเปิดก่อน” โอ้ล่ะพ่อ...นี่หรือคือความจริงใจของผู้นำกระทรวงฯ นี้

 

          จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ดูเหมือนการแก้ไขปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัยยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม และขณะนี้กระทรวงฯ นี้ยังถูกประชาชนตอกลิ่มด้วยจำนวนหน้ากากอนามัยยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของคนไทยที่ออกมาตื่นตัวในการป้องกันโรคติดต่ออย่างมาก ถึงกับมีแฮชแท็ก #ตามหาหน้ากากอนามัย ติดเทรนด์บนโลกออนไลน์ ท่านรองฯ จุรินทร์ ท่านเองก็ท่องโลกออนไลน์อย่างช่ำชอง แต่เหตุไฉนใยจึงนิ่งเฉย?

          อันที่จริงกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย ณ เวลานี้ ตามที่กรมการค้าภายในได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลนั้น มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.35 ล้านชิ้นต่อวัน โดยกระทรวงฯ จัดสรรปันส่วนออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข รวมวันละ 600,000 ชิ้น ส่วนที่สอง 750,000 ชิ้นต่อวันนั้นให้โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการบริหารจัดการตามการค้าปกติ หากคิดคำนวณกันคร่าว ๆ ภายใน 15 วัน จะมีหน้ากากอนามัยถึง 20.25 ล้านชิ้น นั่นหมายความว่า หากมีการบริหารจัดการที่ดีหน้ากากอนามัยที่ขึ้นชื่อว่าหายากกว่าทองคำในเวลานี้คงไม่ขาดแคลนหรือไม่เพียงพอความต้องการของพี่น้องประชาชน แต่นี่อะไรกัน มีกำลังผลิตถือว่าอยู่ในระดับที่รับมือได้แต่ไม่บริหารจัดการเลย ทุกวันนี้เจ้ากระทรวงฯ หานัดแนะหารือถึงกระบวนการกระจายหน้ากากอยู่่เลย นั่นแสดงให้เห็นว่าเจ้ากระทรวงฯ นี้ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน แล้วจะคนไทยจะมั่นใจได้อย่างว่า เจ้ากระทรวงฯ ท่านนี้ จะนำพาเรือสำเภาของชาติ ผ่านมรุสุมเศรษฐกิจไปได้อย่างไร?

 

          หน้ากากอนามัยเรื่องร้อน ๆ ยังไม่จบเพียงเท่านี้....ไหนว่า ‘หน้ากากอนามัย’ เป็นสิ้นค้าควบคุมห้ามส่งออกเกิน 500 ชิ้น ห้ามขายเกินหรือโก่งราคา ห้ามกักตุน มีโทษถึงคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กลับมีการขายเกินราคาโก่งราคาแพงเกินจริงกว่า 10 เท่าในราคาจำหน่ายปกติอย่างเป็นที่น่าตกใจแพร่ระบาดบนร้านค้าออนไลน์อย่างมาก กระทรวงพาณิชย์พาณิชย์ต้องออกมาปราบปรามกำจัดพวกอมุนษย์ที่หากินบนความเดือดร้อนของคนในชาติอย่างจริงจังและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ทำเพื่อเอาหน้าตามกระแสอย่างเดียว 

          อันที่จริงปัญหานี้...นอกเหนือจากความรับผิดชอบของข้าราชการการเมืองอย่างแจ้ากระทรวงฯ แล้ว ยังมีอีกหนึ่งท่านที่มีบทบาทอย่างมาก นั่นคือ ‘แม่บ้านกระทรวงฯ’อย่างปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องกำกับดูแลเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่เป็นคนจำพวก “ไม่รับผิด รับแต่ชอบ” เอาความดีเข้าตัว เรื่องดี ๆ ตัวเองรับผม แต่โยนเรื่องร้อนอย่างนี้ให้อธิบดีกรมการค้าภายในรับหน้าเสื่อแทนอย่างนี้...จิ้งจกตัวใหญ่คงต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่สง่าเอาเสียเลยทำงานแบบข้าศึกมาหลบหลังลูกน้อง 

          ท้ายสุดและสุดท้าย....เรื่องหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์จะจำศีลนิ่งเงียบแบบนี้ไม่ได้ ท่านรองฯ จุรินทร์ ต้องออกมาจากทำความชัดเจนเรื่องนี้ให้กระจ่าง ว่าแท้จริงแล้วหน้ากากอนามัยที่ผลิตออกมานั้นมันไปอยู่ที่ไหน ? หรืออยู่กับใคร? ท่านต้องตอบ...เพราะคนไทยรอคำตอบจากท่านอย่างใจจดใจจ่ออยู่